นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า แม้ปัจจุบันฝนจะตกจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่จากการติดตามสถานการณ์น้ำภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง พบว่าในขณะนี้หลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมขังและบางพื้นที่มีปริมาณน้ำสำหรับการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค รวมถึงปริมาณน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ต่างๆเพียงพอแล้ว แต่ก็ยังมีหลายพื้นที่ที่พบว่าอ่างเก็บน้ำที่ยังมีปริมาณน้ำต้นทุนเก็บกักน้อย รวมไปถึงไปถึงพื้นที่การเกษตรบางส่วนที่ยังมีความต้องการน้ำอีกจำนวนมาก
ดังนั้น กรมฝนหลวงฯจึงได้มีการปรับแผนจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ประจำเดือนตุลาคม 2564 ให้คงเหลือจำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ตาก พิษณุโลก ขอนแก่น และปรับแผนเพิ่มหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.อุดรธานี เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงเกิดประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน
โดยจะเน้นช่วยเหลือในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำที่ยังมีปริมาณน้ำต้นทุนเก็บกักน้อย รวมไปถึงไปถึงพื้นที่การเกษตรที่ปริมาณน้ำยังไม่เพียงพอ โดยร่วมกับกองทัพอากาศและกองทัพบก จะวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือในพื้นที่ที่ต้องการน้ำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ได้รับปริมาณน้ำฝนเพียงพอ และหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ จากรายงานข้อมูลการขอรับบริการฝนหลวง (30 ก.ย. 2564) พบว่ามีจำนวนรวม 42 แห่ง ครอบคลุม 10 จังหวัด 28 ได้แก่ บริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จำนวน 15 แห่ง ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 13 แห่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จำนวน 12 แห่ง โดยจากผลการปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมาได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วยปฏิบัติการ ทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ เขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และ เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์
ด้านนายภักดี จันทร์เกษ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวง กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงในที่ 1 ตค.นี้ว่าจากผลการตรวจสภาพอากาศจากสถานีเรดาห์ฝนหลวงทั่วประเทศพบว่า สภาพอากาศยังไม่เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ทั้ง 5 หน่วยฯ ในช่วงเช้านี้จึงยังคงมีการติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง
หากสภาพอากาศเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง พร้อมจะช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที โดยเกษตรกร และพี่น้องประชาชน สามารถขอรับบริการฝนหลวงและติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางการติดต่อของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ทาง เพจ Facebook, Instagram, Twitter, Line Official Account, เว็บไซต์กรมฝนหลวงและการบินเกษตร และติดตามรับชมรายการ “ใต้ปีกฝนหลวง” ทางช่อง YouTube ใต้ปีกฝนหลวง