รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ไม่ได้โพสมาหลายวัน ไม่ได้ไปไหน ไปสำรวจน้ำในลุ่มเจ้าพระยา นั่งเรือไปวัดรอยแตกผนังกั้นน้ำที่ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ทำไมต้องไป ? ผมเป็นวิศวกรต้องประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมจากข้อมูลจริงภาคสนาม เพราะของจริงมันสลับซับซ้อนมาก แม้ว่าปริมาณน้ำเหนือในปีนี้จะน้อยกว่าปี 2554
แต่ปัจจัยที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่ต้องไม่มองข้ามคือ ระดับน้ำมีความเสี่ยงที่อาจจะใกล้เคียงกันกับปี 2554 ในหลายพื้นที่ (จะเห็นได้จากการมีผนังกั้นน้ำแตกหลายจุด ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเหลืออีกประมาณ 1 m จะแตะระดับปี 2554 ส่วนที่เกาะเมืองเหลืออีกประมาณ 40 cm รวมทั้งสถานการณ์น้ำในเขื่อนป่าสักที่อยู่ในสภาพน้ำเต็มเขื่อน) ขึ้นอยู่กับพายุฝนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งไม่มีใครรู้ ???
แต่จากข้อมูลการเกิดพายุปัจจุบัน (1 ตุลาคม2564) มีพายุเกิดขึ้น 16 ลูก (นับเฉพาะพายุโซนร้อนขึ้นไป) ในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีการคาดการณ์ในปีนี้จะมีพายุ 25 ลูก ดังนั้นถ้าคิดแบบง่ายๆ ยังคงเหลือพายุอีก 9 ลูกที่จะเกิดขึ้น และพายุเหล่านี้มีโอกาสประมาณ 30% ที่จะเข้ามาในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย (พายุไม่จำเป็นต้องมี 5 ลูกแล้วทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากอดีต อุณหภูมิที่สูงขึ้นนำมาซึ่งความชื้นมากขึ้น พายุ 2-3 ลูกก็อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมแบบปี 2554 ได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพายุแต่ละลูก) ???
ความไม่แน่นอนดังกล่าว จึงต้องบริหารความเสี่ยง ผมจึงได้แนบ 3 ภาพฉายน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยามาฝากท่าน ซึ่งถ้าท่านอยู่ในพื้นที่สีน้ำเงิน ขอให้บริหารความเสี่ยงด้วยเราไม่สามารถคาดการณ์การเกิดพายุ เส้นทางพายุ และปริมาณฝนได้อย่างแม่นยำ แต่เราสามารถบริหารความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบได้ (แผนที่น้ำท่วมปี 2554 ใช้การคำนวณ 1 เดือน แต่ภาพแผนที่น้ำท่วมปีนี้ ใช้การคำนวณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากต้องเร่งประเมิน จึงมีพื้นที่น้ำท่วมน้อยกว่าปี 2554)
นอกจากนี้ พื้นที่ที่ผมกังวลมากเป็นพิเศษคือภาคใต้ โดยปีนี้ช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคม ถึงกลางเดือนพฤศจิกายน จะมีโอกาสเกิดน้ำท่วมใหญ่น่ะครับ ??? ชาวภาคใต้โปรดติดตามสถานการณ์ด้วย