นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการ สนข. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ปัจจุบันสนข.ได้ศึกษาแผน TOD แล้วเสร็จ เบื้องต้นกรมการขนส่งทางราง (ขร) อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นประธานและนายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นเลขาธิการ และผู้แทนจากหน่วยงานกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมด้วย โดยการตั้งคณะกรรมการในครั้งนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่สามารถดำเนินการโครงการเพียงกระทรวงเดียวได้ รวมทั้งกรมการขนส่งทางราง (ขร.) มีอำนาจในเรื่องของกฎหมายต่างๆ ทำให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบของสถานีรถไฟ หลังจากนั้นจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบได้เร็วๆนี้
ขณะเดียวกันสนข.เร่งผลักดันหลักการโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในปีนี้ รวมทั้งสนข.อยู่ระหว่างจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) TOD เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ที่จะดำเนินการและสามารถพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีได้ โดยให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) พิจารณาด้วย เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง หากดำเนินการจัดทำร่างพ.ร.บ.TOD แล้วเสร็จ จะนำเสนอต่อคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) และเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หลังจากนั้นจะมอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง (ขร) เป็นผู้ดำเนินการต่อไป
นายปัญญา กล่าวต่อว่า ร่างพ.ร.บ.TOD จะระบุถึงรายละเอียดอำนาจหน้าที่และหลักการ วิธีการต่างๆในการดำเนินโครงการฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ส่วนใหญ่หากโครงการฯไม่มีกฎหมายบังคับใช้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถดำเนินการโครงการฯต่อได้ คาดว่าการจัดทำร่างพ.ร.บ.TOD แล้วเสร็จภายในปีนี้
“ด้านผลการศึกษาโครงการฯ นี้ มีการวางแผนและการวางรูปแบบแล้ว เบื้องต้นได้มีการนำร่องเมืองต้นแบบTOD เช่น สถานีขอนแก่น,สถานีชลบุรี (พัทยา),สถานีอยุธยา หากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯแล้วเสร็จ สนข.จะส่งรายละเอียดแผนการศึกษาโครงการฯต่อกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เพื่อไปดำเนินการต่อ ทั้งนี้รูปแบบของสถานี TOD มีลักษณะพื้นที่ที่รถไม่สามารถเข้ามาได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางบริเวณโดยรอบสถานีได้สะดวก รวมทั้งมีแหล่งการค้าขายสินค้า แหล่งอำนวยความสะดวก สวนสาธารณะ และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะ”
นายปัญญา กล่าวต่อว่า นอกจากแผนศึกษา TOD ทั้ง 3 แห่งแล้ว สนข.จะศึกษาพื้นที่อื่นๆเพิ่มเติมหรือไม่นั้น เบื้องต้นบริษัทเอสอาร์ที แอสเสท ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการรวบรวมที่ดินของรฟท.เพื่อศึกษารายละเอียดว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพสามารถดำเนินการได้ โดยการศึกษาในครั้งนี้จะร่วมมือกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า)
สำหรับแผนศึกษาTODทั้ง 3 แห่ง ดังนี้ 1.สถานีรถไฟขอนแก่น เป็น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เป็นศูนย์กลางเมืองขอนแก่นแห่งใหม่ ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผสมผสานมีการเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ชุมชนเดิมและชุมชนใหม่ เพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.สถานีรถไฟอยุธยา เป็น TOD ศูนย์กลางเมืองภาคกลาง ตัวแทนกลุ่มแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้สอดคล้องกลมกลืนกัน ระหว่างความเป็นเมืองเก่ากับความทันสมัย เน้นการเชื่อมต่อพื้นที่สถานีความเร็วสูงที่จะเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่เข้ากับพื้นที่ชุมชนเมืองเดิมด้วยสะพานทางเดินข้ามแม่น้ำ ท่าเรือข้ามฟาก และระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมพื้นที่สาธารณะภายในเมืองด้วยโครงข่ายพื้นที่สีเขียว ทางจักรยาน ทางเท้า และทางยกระดับ รักษาสมดุลของการอนุรักษ์และพัฒนาและ 3.สถานีรถไฟพัทยา เป็น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟพัทยาให้เป็นศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ของพัทยา โดยเชื่อมโยงพื้นที่กับชายทะเลพัทยา ซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญเดิม เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูงโดยมีการปรับขนาดของ TOD ลง เพื่อให้เข้ากับสภาพมรดกท้องถิ่น
หน้า7หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ