สนข.ปั้น 173 เมือง‘ไฮสปีด-ทางคู่’ ประเดิม อยุธยา-พัทยา-ขอนแก่น

05 ก.ย. 2563 | 09:07 น.

 ไฮสปีด-ทางคู่ พลิกโฉมศูนย์เศรษฐกิจ ใหม่ 173 แห่งรอบสถานี สนข. นำร่อง TOD เปิดพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์ 3 จังหวัดอยุธยา-ขอนแก่น-ชลบุรี บูมคมนาคมขนส่ง-ปั้นศูนย์เศรษฐกิจใหม่ คนพื้นที่มีรายได้-เดินทางสะดวก

 

 

 

การขับเคลื่อนรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงโครงข่ายกระจายความเจริญลงสู่จังหวัดภูมิภาค ไม่เพียงแค่ขนส่งสินค้าอำนวยความสะดวกต่อการเดินทาง แต่การลงทุนระบบรางให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจโดยแท้ นั่นคือ พัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นลดความแออัดจากการเดินทาง เข้ามาทำงานในเมืองหลวง
 ทั้งนี้ นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สะท้อนว่า สนข.มีแนวคิดศึกษาพัฒนาพื้นที่รอบสถานี ขนส่งมวลชนหรือ TOD ทั่วประเทศไทย เบื้องต้น จำนวน 173 แห่ง เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวก มีรายได้จากการพัฒนาพื้นที่ โดยจะเริ่มดำเนินกับเมืองต้นแบบ 3จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และขอนแก่น โดยใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณผูกพัน 2 ปี ตั้งแต่ปี 2561
 “เราจะพัฒนาเครื่องมือให้กับจังหวัดนั้นๆ ที่ต้องการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน หากสามารถดำเนินการได้จะช่วยให้รัฐมีรายได้เพิ่ม รวมทั้งประชาชนบริเวณพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น”

สนข.ปั้น 173 เมือง‘ไฮสปีด-ทางคู่’ ประเดิม อยุธยา-พัทยา-ขอนแก่น

 

 สอดคล้องกับนายเริงศักดิ์ ทองสม ผอ.กองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สนข. เสริมว่าพื้นที่ศักยภาพต้นแบบ มี 3 จังหวัด เริ่มจากพื้นที่รอบสถานีรถไฟอยุธยาเน้นใช้ประโยชน์ที่ดิน ผสมผสานสร้างสรรค์กิจกรรมภายในเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ และเชื่อมฝั่งสถานีรถไฟด้วยสะพานทางเดินข้ามแม่น้ำ และระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) แบ่งการพัฒนาเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (2564-2565) ระยะสั้น (2566-2570) ระยะกลาง (2571-2575) และระยะยาว (2576-2580) แบ่งพื้นที่ TOD เป็น 5 โซน โซนที่ 1 ย่านสถานีรถไฟทางคู่และสถานีรถไฟความเร็วสูง มีส่วนอาคารสถานี อาคารสำนักงาน ที่พักเจ้าหน้าที่ โซนที่ 2 ย่านพาณิชยกรรมรองรับการค้าและบริการขนาดใหญ่ริมถนนโรจนะ สร้างอาคารสูงได้ไม่เกิน 30 เมตร เช่น ศูนย์การค้าหรือศูนย์ค้าปลีก อาคารสำนักงาน โรงแรม ศูนย์การประชุมสัมมนา และคอนโดมิเนียม ด้านโซนที่ 3 ย่านผสมผสานพาณิชยกรรมรองรับศูนย์ กลางการค้าและบริการท่องเที่ยว บริเวณพื้นที่ใกล้สถานี เช่น ศูนย์ การค้า ร้านค้าริมถนน (High Street Retail) และอพาร์ตเมนต์ให้เช่ารองรับนักท่องเที่ยว ผู้เดินทางมาติดต่อธุรกิจ ส่วนโซนที่ 4 ย่านผสมผสานพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย เช่น คอนโดมิเนียม และศูนย์การค้าหรือศูนย์ค้าปลีกรองรับการเจริญเติบโตชุมชนรอบสถานี และโซนที่ 5 ย่านที่พักอาศัยชั้นดี สำหรับผู้ที่ต้องการอยู่อาศัยในอยุธยาระยะยาว
 ขณะขอนแก่น ศูนย์กลางการค้า การบริการ พาณิชยกรรม และการลงทุนของกลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แบ่งการพัฒนารอบสถานี 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การพัฒนาระยะเร่งด่วน (ปี 2564-2565) การพัฒนาระยะที่ 2: ระยะสั้น (ปี 2566-2570) ระยะที่ 3: การพัฒนาระยะปานกลาง (ปี 2571-2575) และการพัฒนาระยะที่ 4: ระยะยาว (ปี 2576-2570) โดยแบ่งการพัฒนาตามแนวทางของ TOD ได้เป็น 
8 โซน โซนที่ 1 ย่านสถานี รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง มีส่วนอาคารสถานี สำนักงาน ที่พักเจ้าหน้าที่ รวมถึงชุมชนที่มี
สัญญาเช่า ด้านโซนที่ 2 ย่านพาณิชยกรรมและศูนย์กลาง TOD จุดเปลี่ยนถ่ายเชื่อมต่อการเดินทางหน้าสถานี เหมาะพัฒนาแบบผสมผสานเป็นอาคารศูนย์การค้า ฯลฯ
 โซนที่ 3 ย่านที่พักอาศัยและส่งเสริมอัตลักษณ์พื้นถิ่น ส่งเสริมเป็นย่านที่พักอาศัยคุณภาพแบบ Low-Rise ของคนในเขตเมืองและชุมชนเดิมในพื้นที่ เช่น คอนโดมิเนียมที่มีความสูงไม่เกิน 23 เมตร หรือไม่เกิน 8 ชั้น ผสมผสานกับพื้นที่พาณิชยกรรมเดิม ส่งเสริมอัตลักษณ์พื้นที่ด้วยภูมิทัศน์เชื่อมต่อกับส่วนสถานีรถไฟด้วยทางเดินเท้าทางจักรยาน ส่วนโซนที่ 4 ย่านประตูเมืองขอนแก่น-ศูนย์กลางธุรกิจ และ MICE ด้วยที่ตั้งที่มีศักยภาพเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟ 2 สถานี และเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูง เหมาะแก่การพัฒนาพื้นที่แบบผสมผสานเป็นอาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม โรงแรมหรู อุตสาหกรรม MICE และที่พักอาศัยชั้นดี
 โซนที่ 5 ย่านพัฒนานวัตกรรมและที่พักอาศัยคนรุ่นใหม่ ศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรม กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเบา SME และโซนที่ 6 ศูนย์กลางพาณิชกรรมระดับภูมิภาค ศูนย์กลางพาณิชยกรรม ทั้งศูนย์การค้าระดับภูมิภาค ศูนย์ค้าปลีก ฯลฯ

 

 

 โซนที่ 7 ย่านการศึกษา-พักอาศัยและการพัฒนาแบบผสมผสาน เป็นที่ตั้งสถานศึกษาเดิมในพื้นที่ติดถนน พัฒนาแบบผสมผสานเป็นสำนักงาน พาณิชยกรรม และโซนที่ 8 ย่านชุมชนเมือง เน้นการพัฒนาเป็นที่พักอาศัย ที่มีคุณภาพของชุมชนเมืองและชุมชนเดิมในพื้นที่ ทั้งศูนย์การค้า ร้านค้าปลีก สำนักงานและโรงแรมที่พัก
 สำหรับ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี พัฒนาได้ 4 โซนหลัก คือ โซน 1 ย่านอาคารสำนักงาน เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งติดสถานีรถไฟ พื้นที่นี้จึงเหมาะพัฒนาแบบผสมผสาน ทั้งอาคารสำนักงานระดับภูมิภาค ที่ทำการหน่วยงาน สถานศึกษา ร้านค้าปลีก โซนที่ 2 ศูนย์กลางธุรกิจ การค้า ด้วยตำแหน่งที่ตั้งติดสถานีทำให้พื้นที่บริเวณนี้เหมาะเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ระดับภูมิภาครองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ
 ทั้งนี้โซนที่ 3 มหานครแห่งอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE City) ครบวงจร ในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก จึงเหมาะเป็นศูนย์กลางทางด้านการประชุม จัดแสดง และโซนที่ 4 ชุมชนที่อยู่อาศัย สะดวกสบาย ด้านการคมนาคม เพราะอยู่ใกล้จากสถานี 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,607 วันที่ 6 - 9 กันยายน พ.ศ. 2563

อ่าวข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ลุยไฮสปีด เฟส 2 บูมระยอง-จันทบุรี-ตราด