นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ประธานบอร์ด สสว.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปีงบประมาณ 2565 สสว. มีงบประมาณในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยมาจาก 2 ส่วน ประกอบด้วย งบประมาณปี 2565 และงบจากกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ทั้งนี้ พันธกิจในการใช้งบ 1,200 ล้านบาทดังกล่าว จะเป็นใน 3 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.การสะสางข้อมูลของเอสเอ็มอีให้เป็นระเบียบ 2.การนำเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยกรมบัญชีกลางได้ดำเนินการออกกฎหมายเมื่อปลายปี 2563 และออกระเบียบวิธีปฏิบัติเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งนำไปสู่การขึ้นทะเบียนภาครัฐ เพื่อให้เอสเอ็มอีมีแต้มต่อ โดยปัจจุบันมีเอสเอ็มอีที่ขึ้นบัญชาแล้ว 100 ราย และมีการเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้วประมาณ 600,000 รายการ หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท
ล่าสุดกรมบัญชีกลางได้ออกระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเอสเอ็มอีมากขึ้น โดยกำหนดให้หากงบประมาณไม่เกิน 500,000 ล้านบาท สามารถจัดซื้อจัดจ้างหรือสืบราคากับเอสเอ็มอีที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ ที่ขึ้นทะเบียนกับ สสว. ได้ทันที ซึ่งก็จะมีวิธีปฏิบัติของแต่ละประเภท ตรงนี้จะทำให้นำไปสู่การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดำเนินการจัดทำเรื่อง e-Factoring หรือระบบการรับซื้อเอกสารการค้าออนไลน์ ซึ่งเอสเอ็มอีสามารถนำเอกสารดังกล่าวไปลงทะเบียนที่ระบบบล็อกเชน (Blockchain) ของ ธปท. ซึ่งเชื่อมโยงข้อมูลกับสถาบันการเงิน 8 แห่ง เพื่อขอสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องหมุนเวียนในการทำ e-Factoring ได้ทันที
“ระบบบล็อกเชนดังกล่าวของ ธปท. ถือว่ามีความปลอดภัยสูง ยากในการปลอมแปลงเอกสาร เนื่องจากเดิมทีเอสเอ็มอีจะต้องใช้หลักฐานยืนยันตั้งแต่สัญญา และการยืนยันตัวตน เป็นต้น แต่ปัจจุบันสามารถทำบนระบบ Digital platform ของ ธปท. ได้”
และ3.เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากเรื่องความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) กับเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 21 ของโลก โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ไทยลดลำดับลงมาอยู่ 1 ใน 10 ของโลกให้ได้ ซึ่งจะเป็นการลดทอนข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ โดยล่าสุด สสว. ได้ดำเนินการไปแล้ว 4 กิจการนำร่อง ได้แก่ 1.โรงแรม 2.ร้านอาหาร รวมถึงที่เกี่ยวกับกับดีลิเวอรี 3.การขนส่ง หรือโลจิสติกส์ และ 4.การซื้อขายออนไลน์ (e-commerce )
“ปัจจุบันได้เสนอเป็นโครงการนำร่องและจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป เพื่อแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ รวมถึงเครดิตเทอมด้วยของสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันการค้า โดยเรื่องดังกล่าวไม่ต้องใช้งบประมาณแต่สามารถส่งเสริมให้โอกาส รวมถึงความเสมอภาคให้กับเอสเอ็มอีได้มีแต้มต่อได้”
นอกจากนี้ ยังได้มีการอนุมัติถึงข้อบังคับของ สสว. ในการช่วยเหลืออุดหนุนเอสเอ็มอีในลักษณะของการร่วมจ่าย (Copayment) จากเดิมที่ สสว. จะต้องจัดตั้งเป็นโครงการ หรืองบประมาณเพื่อช่วยเหลือ หรืออุดหนุนผู้ประกอบการ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวนี้จะใช้เวลานานมาก หรือทำทั้งหมด 3 พ.ศ. โดยต้องตั้งงบประมาณ พ.ศ. หนึ่งกว่าจะใช้ได้ก็คืออีก 2 พ.ศ. ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนใหม่ออกเป็นข้อบังคับในลักษณะที่เรียกว่า Copayment
“โดยในรายที่มียอดขายไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือเอสเอ็มอีขนาดกลาง สสว. จะอุดหนุน 80% ในวงเงินงบประมาณไม่เกิน 50,000 บาท หรือช่วยเหลือไม่เกิน 40,000 บาท หรือหากเป็นเอสเอ็มอีรายย่อมจะช่วยเหลือไม่เกิน 100,000 บาทในอัตรา 80% หรือก็คือไม่เกิน 80,000 บาท และรายขนาดกลางจะช่วยเหลือไม่เกิน 200,000 บาท หรือช่วยไม่เกิน 10,000 บาทหรือ 50% ซึ่งจะใช้งบประมาณ 500 ล้านบาท ในการนำร่อง โดยจะเน้นที่ 80% หรือรายเล็ก เพื่อดึงเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ”