รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.เตรียมเปิดประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการจ้างพัฒนาระบบติดตามขบวนรถไฟและจัดการงานขนส่งสินค้า(Train Tracking and Freight Management System)วงเงินลงทุน 950 ล้านบาท เพื่อดำเนินการติดตั้งระบบ GPS และRFID บนขบวนรถโดยสารและขบวนตู้สินค้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบจัดการขนส่งผู้โดยสาร สินค้า รวมทั้งระบบการวางแผนพนักงานประจำขบวนรถ ระบบจัดขบวนรถ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับระบบขนส่งโหมดอื่น เบื้องต้นจะเปิดประมูล ขายซองเอกสารประกวดราคาในเดือนพ.ย. นี้ตลอดทั้งเดือน หลังจากนั้นจะเริ่มพิจารณาข้อเสนอในเดือนธ.ค.64 คาดว่าประมาณเดือนม.ค. 65 จะนำเสนอผลการคัดเลือกให้บอร์ด รฟท. พิจารณาอนุมัติ จากนั้นจะเริ่มงานติดตั้งทันทีใช้เวลารวม 18เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการระบบใหม่ได้ช่วงกลางปี 67
ที่ผ่านมา รฟท. ได้ทำการเปิดรับฟังความเห็นร่างทีโอออาร์ผ่านเว็บไซต์ไปเรียบร้อยแล้ว ระหว่างวันที่ 27ก.ย.-1ต.ค. ที่ผ่านมา โดยมีผู้ประกอบการเสนอแนะความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของระบบมา แต่ไม่น่าจะมีนัยต่อสาระสำคัญของร่าง คาดว่าจะนำเสนอร่างทีโอออาร์ให้ผู้ว่า รฟท. พิจารณาอนุมัติได้ในช่วง 18-20 ต.ค.นี้
รายงานข่าวจากรฟท. กล่าวต่อว่า ส่วนคุณสมบัติของผู้ยื่นประกวดราคา จะ-ต้องเป็นนิติบุคคลและมีผลงานในด้านการจัดทำระบบงานคอมพิวเตอร์ หรือพัฒนาระบบสารสนเทศมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 โครงการ ซึ่งเป็นผลงานที่สำเร็จในปี พ.ศ. 2554-2564 (10 ปี) โดยมีมูลค่าโครงการไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาทต่อสัญญา เสนอราคาให้เสนอราคาเป็นเงินบาทและยืนราคาไม่น้อยกว่า 90 วัน ตั้งแต่วันเสนอราคา ส่วนเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกจะใช้เกณฑ์ราคากำหนดน้ำหนักเท่ากับ30% ส่วนอีก 70%ที่เหลือ ประกอบด้วย5เกณฑ์คือข้อมูลทั่วไปของผู้ยื่น ผลงานและระสบการณ์ บุคลากรและประสบการณ์บุคลากร แผนการดำเนินงานโครงการและกระบวนการพัฒนาระบบ และการสาธิตและการทดสอบ
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวถือว่ามีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยพบว่ามีอัตราผลตอบแทนทางการลงทุน(Inter Rate Return-IRR) อยู่ที่ 16.19% โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(Net Present Value-NPV) อยู่ที่ 921 ล้านบาท สำหรับการติดตั้งระบบ จะเป็นการติดตั้งระบบ GPS และRFID บนขบวนรถไฟขนคน และขนสินค้า ทำให้ รฟท.สามารถติดตามตำแหน่งขอหัวรถจักร ขบวนโดยสารและแคร่สินค้าได้แบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการติดตามขบวนรถไฟขนคน ขนสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาความล่าช้าในการขนส่งเพราะจะมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลางแสดงข้อมูลกำหนดเวลาเข้า-ออกสถานี รวมทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าระบบเพื่อตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง และการให้บริการในเส้นทางต่างๆ และประมานการเวลาถึงสถานีปลายทางด้วย
อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่า ระบบดังกล่าวจะช่วยลดมูลค่าความเสียหายจากความล่าช้าของเที่ยววิ่งรถโดยสารได้ ปีละ 311 ล้านบาท ลดมูลค่าความเสียหายเที่ยววิ่งสินค้าปีละ97ล้านบาท ขณะที่ผู้โดยสารจะพึงพอใจกับบริการมากขึ้นเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริการ คาดว่าจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5% หรือราว ปีละ 1.75 ล้านคน จากยอดคนโดยสารเฉลี่ยต่อปี 35.1 ล้านคน ส่งผลให้รายได้จากการโดยสารเพิ่มขึ้นปีละ176ล้านบาท จากรายได้ปกติปีละ3,529 ส่วนปริมาณขนส่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2% จากปัจจุบันที่ขนส่งอยู่ที่ 11ล้านตันต่อปี ส่งผลให้รายได้จากการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 44 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิงได้10 ล้านบาทต่อปี