จับตา! รถไฟฟ้าสายสีส้ม จะได้ลอดเจ้าพระยาก่อนสายสีม่วงใต้หรือไม่?

14 ต.ค. 2564 | 02:07 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2564 | 09:17 น.

ดร.สามารถ เผยประมูลสายสีส้ม ปัญหาเพียบ หวั่นประมูลรอบใหม่สะดุด แนะรฟม.ใช้เกณฑ์เดิม เลี่ยงเอกชนฟ้องร้อง ด้านบอร์ดม.36 รอศาลพิจารณาก่อนเปิดประมูล กระทบแผนเดินรถล่าช้ากว่า 1 ปี

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า รฟม. เปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกก่อนสายสีม่วงใต้ แต่มีปัญหาถูกฟ้องกรณีเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลและล้มประมูล ถึงวันนี้การประมูลใหม่ยังสะดุดอยู่ จึงไม่แน่ใจว่าจะสามารถก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นจุดไฮไลต์ของการก่อสร้างได้ก่อนรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ซึ่งจะต้องลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกันได้หรือไม่?

 

 

 

หลายคนคงไม่รู้ว่ารถไฟฟ้าสายแรกที่วิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาคือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงสนามไชย-ท่าพระ รถไฟฟ้าช่วงนี้ได้รับการออกแบบเบื้องต้น (Preliminary Design) โดยกลุ่มบริษัท บีเอ็มทีซี (BMTC) ซึ่งเป็นแบบที่ไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะนำไปใช้ก่อสร้างได้ และออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) โดยบริษัท AECOM หรือเออีคอม (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นแบบที่สามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างได้ โดยมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อสร้าง รถไฟฟ้าช่วงนี้ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้ การออกแบบอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเบื้องต้นหรือออกแบบรายละเอียดจะต้องใช้ผู้ออกแบบหรือวิศวกรหลายคนและหลายสาขา พูดได้ว่ามีผู้เกี่ยวข้องมากมาย 

 

 

พูดถึงการออกแบบรถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินแล้ว หลายคนคงอยากรู้ว่าใครเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทย

รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของไทยวิ่งระหว่างหัวลำโพง-บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2547 บริษัทที่ออกแบบเบื้องต้นประกอบด้วยบริษัท Halcrow Asia จำกัด (ออกแบบช่วงหัวลำโพง-ห้วยขวาง) และบริษัท Dorsch Consult จำกัด (ออกแบบช่วงห้วยขวาง-บางซื่อ) และบริษัทที่ออกแบบรายละเอียดพร้อมทำการก่อสร้างประกอบด้วยกลุ่มบริษัท BCKT (ช่วงหัวลำโพง-ห้วยขวาง) และกลุ่มบริษัท ION (ช่วงห้วยขวาง-บางซื่อ) ทั้งนี้ การออกแบบและก่อสร้างมีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก

 

 

กลับมาที่รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลกลางอากาศ ทำให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่ จึงได้ฟ้องต่อศาลปกครอง แต่ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด รฟม.ได้ยกเลิกการประมูลในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นผลให้บีทีเอสฟ้องต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฯ น่าเป็นห่วงว่าผู้ถูกฟ้องจะถูกลงโทษจำคุกเหมือนกับอดีตผู้บริหารของการรถไฟแห่งประเทศไทยในคดีแอร์พอร์ตลิงก์หรือไม่? 

 

 

ทราบมาว่ามีกรรมการบางท่านในคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ต้องการรอผลการพิจารณาของศาลฯ หากศาลฯ วินิจฉัยว่าคดีมีมูล รฟม. จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้โครงการล่าช้าออกไปอีก? เพราะถึงเวลานี้ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มช้ากว่าแผนไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับ รฟม. คือกลับไปใช้เกณฑ์ประมูลเดิมนั่นคือเกณฑ์ราคา (แต่ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านเกณฑ์เทคนิคมาก่อน) เพราะจะใช้เวลาสั้นกว่า และที่สำคัญ ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องอีก แต่หากยังฝืนใช้เกณฑ์ประมูลใหม่นั่นคือเกณฑ์เทคนิคประกอบเกณฑ์ราคา จะทำให้เสียเวลานานมากขึ้น และที่สำคัญ อาจจะถูกฟ้องร้องอีกก็ได้

 

 

ทั้งหมดนี้ด้วยความหวังดี อยากเห็นรถไฟฟ้าสายสีส้มวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายที่ 2 ตามหลังรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งจะทำให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในอีกไม่นาน ช่วยลดเวลา ลดมลพิษโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 และลดการใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี

 

 

ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนที่ต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง