นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง และความจำเป็นในการพัฒนาบุคลากร แก่ผู้ประกอบการสมาชิก ตลอดจน SMEs ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมมือกับวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) จัดหลักสูตรบูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล พลัส หรือ “Digital Industry Integration Plus” (DII+) ขึ้น
หลักสูตรนี้เป็นรูปแบบ Education Sandbox ต้นแบบของประเทศ ที่ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้พร้อมกับการทำงานจริงในบริษัท เพื่อให้สถานประกอบการได้บุคลากรที่ตรงกับความต้องการ เป็นหลักสูตรที่สามารถปรับปรุงแบบฉับไวตามความต้องการของผู้ประกอบการ โดยจะมีทักษะที่จะช่วย SMEs ในจังหวัดเชียงใหม่ คือด้าน E-Commerce Trader และ Digital Business and Marketing
หอการค้าฯ ให้ความสำคัญกับหลักสูตรความร่วมมือครั้งนี้อย่างยิ่ง มีรายละเอียดที่น่าสนใจได้แก่ ทักษะการใช้ดิจิทัลเพื่อการขายและการตลาดออนไลน์สำหรับ Startup ทักษะการใช้ดิจิทัลเพื่อการออกแบบ การผลิตสื่อดิจิทัล ทักษะการประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อการค้าและการตลาด การพัฒนาองค์กรผ่านแนวทาง Digital Transformation และ agile team ภายในองค์กร ทักษะการใช้ดิจิทัลเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจภาคบริการและการท่องเที่ยว เป็นต้น
รวมทั้ง การส่งเสริมพัฒนาแพลตฟอร์มการประชาสัมพันธ์ และการฝึกอบรมออนไลน์ร่วมกัน ระหว่างวิทยาลัยฯกับหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างพื้นที่ชุมชนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการในรูปแบบออนไลน์ เป็นต้น
ผู้ประกอบการที่สนใจร่วมโครงการ จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี 250% และการพัฒนาบุคลากรของบริษัทเป็นระยะเวลา 3 ปี และมีนักศึกษาเข้าไปปฏิบัติงานร่วมกับบริษัท จำนวน 22 เดือน ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนนี้จะเปิดรับนักศึกษาผ่านช่องทาง TCAS รอบ 1 จำนวน 60 คน
ด้านผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มช. กล่าวว่า เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประชากรที่ลดลง หรือมีการแข่งขันในลักษณะกระบวนการศึกษา การเรียนการสอนเกิดขึ้น รวมไปถึงโควิด-19 ที่เราเจอกันทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด
ดังนั้น สิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องปรับตัวมีหลายอย่างมาก โดยเฉพาะรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ ๆ ที่มีชื่อเรียกใหม่ ๆ มากมายที่ต่างไปจากเดิม หากยังทำการเรียนการสอนแบบปกติ ที่เคยเน้นความเชี่ยวชาญและใช้อาจารย์เป็นตัวตั้งยากจะไปต่อได้ในอนาคต จึงมีแนวคิดการออกแบบใหม่ที่เรียกว่า CAMT Sandbox ขึ้น โดยเอาสิ่งที่สังคมและประเทศชาติต้องการ สิ่งที่สถานประกอบการต้องการ เป็นตัวตั้ง เป็นเรื่องของนวัตกรรมทางการศึกษา (Education Innovation) เพื่อผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการตลาดจริง ๆ
ด้านผศ.ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มช. กล่าวว่า หลักสูตรบูรณาการอุตสาหกรรมดิจิทัล พลัส หรือ “Digital Industry Integration Plus” (DII+) มีจุดเด่นคือ ผู้เรียนสามารถเรียนจบได้ใน 3 ปี ในรูปแบบการเรียนรู้ร่วมการทำงาน ซึ่งจะช่วยให้สามารถเข้าไปปฏิบัติงานในบริษัทได้เร็วขึ้น เมื่อสำเร็จการศึกษาผู้เรียนจะได้รับทั้งปริญญาและการจ้างงาน
อีกทั้งเป็นการปฏิรูปการเรียนรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย ภายใต้การเรียนรู้แบบ Entrepreneur-based Academy ซึ่งจะมีทั้ง Hybrid Learning และ Boot Camp เพื่อสร้างทักษะที่หลากหลาย หลักสูตรที่ปรับปรุงแบบฉับไวตามความต้องการของผู้ประกอบการ และได้รับค่าตอบแทนระหว่างเรียน 70,000 บาท ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้รับนักศึกษามาแล้ว 3 รุ่น และมีความร่วมมือกับบริษัทดิจิทัลที่หลากหลาย เช่น Digital Ventures, AppMan, CLBS, Innergy Lab เป็นต้น
รุ่นที่ 4 นี้ หอการค้าฯ และวิทยาลัยฯ จะมุ่งเน้นไปที่ 2 ทักษะ ที่จะช่วย SMEs ในเชียงใหม่ ได้แก่ (1) E-Commerce Trader และ (2) Digital Business and Marketing โดยเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ จะเปิดรับนักศึกษาผ่านช่องทาง TCAS รอบ 1 จำนวน 60 คน โดยจะมีเริ่มการ Audition ในเร็ว ๆ นี้ และขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจพัฒนกำลังคนทักษะดิจิทัลเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี 250% และการพัฒนาบุคลากรของบริษัทเป็นระยะเวลา 3 ปี และมีนักศึกษาเข้าไปปฏิบัติงานร่วมกับบริษัท จำนวน 22 เดือน
นอกจากนี้ในอนาคต หอการค้าฯและวิทยาลัยฯ จะร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกระดับ ตั้งแต่กลุ่มที่กำลังตั้งตัว (setup) กลุ่มสตาร์ทอัพ (startup) กลุ่มที่ต้องเรียนรู้ใหม่ (reset) รวมถึงกลุ่มที่มีทักษะที่พร้อมแบ่งบัน (set-off) ซึ่งจะช่วยให้สามารถสร้าง Skill ใหม่ที่ปรับเปลี่ยนได้เร็ว เนื่องจาก "การปรับเปลี่ยน" และ "การมองเห็นอนาคต"เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการอยู่รอดในโลกยุคใหม่
ผศ.ดร. ภราดร กล่าวตอนท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในปัจจุบัน ประกอบด้วย 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากการระบาดใหญ่เชื้อไวรัส ทำให้เกิดทั้งวิกฤติและโอกาสสำหรับประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องเร่งสร้างเครื่องมือใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเฉพาะทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปฏิรูปธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้ในปัจจุบัน
วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มช. และหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่า การปรับตัว ทั้งแรงงานและธุรกิจ โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ จะสอนให้ผู้เรียนและธุรกิจ “อยู่ให้รอด” ในสถานการณ์เช่นนี้ “อยู่ให้เป็น” ในสถานการณ์ Post-COVID และ “อยู่ให้ได้” ในเศรษฐกิจแห่งอนาคต