ครม.ไฟเขียว ซีพี เลื่อนจ่ายค่าสิทธิร่วมทุนแอร์พอร์ตลิงก์

19 ต.ค. 2564 | 10:49 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2564 | 12:15 น.

ครม.รับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หลังเอกชนคู่สัญญาเกิดปัญหาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ แตะ 10,671 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบแนวทางแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน ตามมติคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.) และมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) ร่วมกันดำเนินงานโดยเร็ว เพื่อให้บริการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก

 

 

 

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน ได้เกิดปัญหาในส่วนของการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ เนื่องจากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 โดยทาง บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญา มีหนังสือหารือผลกระทบอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำที่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดและเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งผลกระทบเกิดขึ้นจริงจากเหตุสุดวิสัยของภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยขอให้ภาครัฐพิจารณากำหนดมาตรการเยียวยา โดยขอขยายเวลาการชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ จนกว่าจะได้ข้อยุติในการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน และกำหนดมาตรการเยียวยาอื่น ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการชำระเงินร่วมลงทุนโครงการฯ และการขยายระยะเวลาโครงการฯ

ขณะเดียวกันคณะกรรมการบริหารสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน เห็นว่าสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นเหตุการณ์ที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายไม่อาจคาดการณ์ได้ก่อนลงนามในสัญญา และมีผลกระทบเกิดขึ้นจริง จึงมีมติเห็นชอบหลักการเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 ในส่วนของค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรลลิงก์ แก่เอกชนคู่สัญญาและแนวทางดำเนินการระหว่างกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ

 

 

 

ทั้งนี้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเห็นด้วยกับหลักการ และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า เรื่องที่เอกชนคู่สัญญาไม่สามารถชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ตามสัญญาร่วมลงทุนฯที่จะถึงกำหนดชำระในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 เนื่องจากโควิด-19 นั้น ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเหตุผ่อนผันในการไม่ชำระเงิน ดังนั้นกพอ.จึงได้มอบหมายให้รฟท. สกพอ. และคณะกรรมการกำกับดูแลฯพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหา ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ขอให้ดำเนินการตามกระบวนการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนนำเสนอครม.

อย่างไรก็ตามเงื่อนไขสัญญาร่วมทุน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะเวลาสัญญา 50 ปี มูลค่ากว่า 224,544 ล้านบาท ระบุว่า ในวันที่ 24 ต.ค. 2564 หรือ 2 ปี หลังลงนามสัญญา บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ ซี.พี.และพันธมิตร ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง, บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น (CRCC), บมจ.ช.การช่าง (CK), บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ซึ่งได้ปลี่ยนชื่อ เป็น บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด จะต้องชำระเงินค่าโอนสิทธิ์แอร์พอร์ตเรลลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาทให้ รฟท. เพื่อเข้าบริหารการเดินรถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ภายในวันที่ 25 ต.ค. 2564