นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ว่า ครม.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านภาพยนตร์ระหว่างทบวงกิจการภาพยนตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยที่จะมีการลงนามในช่วงประมาณต้นปี 2565 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ
สำหรับร่างบันทึกความเข้าใจมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดความร่วมมือด้านภาพยนตร์ของทั้งสองฝ่ายภายในระยะเวลา 5 ปี อาทิ
1.เป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการภาพยนตร์หนึ่งครั้ง และส่งคณะผู้แทนภาพยนตร์ไปร่วมกิจกรรม
2.สนับสนุนให้องค์กรภาพยนตร์และบุคคลของทั้งสองประเทศ แลกเปลี่ยน ร่วมมือ และแบ่งปันข้อมูลอุตสาหกรรมซึ่งกันและกัน
3.สนับสนุนการร่วมผลิตภาพยนตร์ในประเด็นความสนใจร่วมกัน
4.สนับสนุนให้ผู้สร้างภาพยนตร์และภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ มีส่วนร่วมในเทศกาลภาพยนตร์ที่จัดขึ้น
5.สนับสนุนให้ช่องโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ นำเข้าและออกอากาศภาพยนตร์ของกันและกัน
6.สนับสนุนให้หอภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศ ขยายการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านข้อมูลภาพและเสียงตามหลักผลประโยชน์ร่วมกัน
7.สนับสนุนให้มีการจัดทำข้อตกลงในการร่วมผลิตภาพยนตร์ระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ
ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ในหลายด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือในการผลิตภาพยนตร์ระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ สนับสนุนการนำเข้าและออกอากาศภาพยนตร์ระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การใช้สถานที่ถ่ายทำ การเช่าโรงถ่ายทำ การจ้างทีมสตั๊นท์ เป็นต้น
นอกจากนี้การร่วมลงทุนภาพยนตร์ร่วมกันจะถือได้ว่า ภาพยนตร์ที่ผลิตได้เป็นภาพยนตร์สองสัญชาติ จะทำให้ไทยสามารถจัดฉายในประเทศจีนได้โดยไม่ต้องผ่านระบบการกำหนดสัดส่วน (Quota) ภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งตลาดภาพยนตร์ในประเทศจีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
รองจากสหรัฐอเมริกา ในปีพ.ศ. 2562 มีมูลค่าการขายตั๋วอยู่ที่ 64,200 ล้านหยวน หรือประมาณ 337,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 5.9 และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนโรงภาพยนตร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใน ปีพ.ศ. 2562 มีจำนวนโรงภาพยนตร์ทั้งสิ้น 68,992 โรง ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนโรงภาพยนตร์มากที่สุดในโลก
นับเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายความร่วมมือเพื่อเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของทั้งสองประเทศและความร่วมมือในอุตสาหกรรมออนไลน์และดิจิทัล อีกทั้งจะเป็นการใช้สื่อภาพยนตร์เป็นเครื่องมือด้าน Soft Power เพื่อนำเสนอ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์ สร้างกระแสความนิยมของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ด้านอื่นโดยเฉพาะการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวด้วย