ค้าชายแดนบึงกาฬ‘หมื่นล้าน’  สะพานข้ามโขง 5 จุดเปลี่ยน‘อีสาน’เชื่อมโลก

20 ต.ค. 2564 | 08:57 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2564 | 16:12 น.

ประธานหอการค้าบึงกาฬ ฟันธง สะพานข้ามแม่นํ้าโขง 5 บูมค้าชายแดนบึงกาฬโตทะลุ 10,000 ล้านต่อปี เติมโครงข่ายโลจิสติกส์เชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง เพียง 400 กิโลเมตรถึงท่าเรือหวุงอ๋าง ที่สปป.ลาวจับมือเวียดนามพัฒนา เพิ่มทางเลือกอีสานเชื่อมเส้นทางเดินเรือโลก

นายบุญเพ็ง ลามคำ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดบึงกาฬ มีการรายงานความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการสะพานข้ามแม่นํ้าโขงแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ว่า ในภาพรวมมีความก้าวหน้าประมาณ 20 % คาดจะเสร็จในปี 2566

หากการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งาน จะทำให้บึงกาฬเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล การค้าชายแดนไทย-ลาว ด้าน บึงกาฬ-แขวงบอลิคำไซ จะขยายตัว จากมูลค่าการค้าเดิมก่อนการระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท และล่าสุดปี 2563 ที่ผ่านมาจากผลกระทบเชื้อโควิด-19 มูลค่าการค้าชายแดน บึงกาฬ-บอลิคำไซเหลือเพียง 2,900 ล้านบาทเศษเท่านั้น จะเพิ่มไปอยู่ที่กว่า 10,000 ล้านบาทแน่นอน

นายบุญเพ็ง ลามคำ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ

ค้าชายแดนบึงกาฬ‘หมื่นล้าน’  สะพานข้ามโขง 5 จุดเปลี่ยน‘อีสาน’เชื่อมโลก

เนื่องจากการส่งออกนำเข้าสินค้าจะมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น สามารถขนถ่ายได้มากกว่าทางเรือขนานยนต์ที่ใช้กันอยู่ ทำให้ปลอดภัยประหยัดต้นทุน เกิดการลงทุนจากเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม จีน และชาติอื่นๆ จะเพิ่มขึ้นแน่นอน จึงควรรีบหาช่องทางลงทุนตั้งแต่ตอนนี้ที่ต้นทุนที่ดินบริเวณตัวสะพานและใกล้แม่นํ้าโขงยังมีราคาไม่สูงมากนัก

ประธานหอการค้าบึงกาฬชี้ว่า สะพานข้ามนํ้าโขงแห่งที่ 5 นี้ เป็นสะพานข้ามนํ้าโขงที่สำคัญอีกแห่ง ที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งเชื่อมภาคอีสานของไทย กับภาคกลางของสปป.ลาว ที่ข้ามไปสิ้นสุดฝั่งทะเลจีนใต้ที่ท่าเรือนํ้าลึกหวุงอ๋างในภาคกลางของเวียดนาม

จากจุดนี้สามารถไปสู่ภูมิภาคส่วนต่างๆ ของโลก ทั้งเอเชีย ยุโรป อาทิจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย รวมถึงเชื่อมต่อกับเส้นทางเดินเรือสายไหมใหม่ของจีน ไปยังยุโรปผ่านรัสเซียได้อีกเส้นทางหนึ่ง นอกจากเส้นทางผ่านมหาสมุทรอินเดีย หรือมหา สมุทรแปซิฟิก

ภาพจากGoogle Map แสดงที่ตั้งบึงกาฬอยู่บนแนวเส้นทางที่สปป.ลาวกำลังพัฒนาจากเวียงจันทน์ไปออกทะเลที่ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างในเวียดนาม

ขณะเดียวกันจะเป็นเส้นทางนำเข้าสินค้าสู่ภาคอีสานของไทยอีกเส้นทางหนึ่ง ผ่านเวียดนาม ลาว ระยะทางประมาณ 400 ก.ม. ขณะที่ถ้าผ่านท่าเรือนํ้าลึกแหลมฉบัง  ต้องขนถ่ายลงรถยนต์ขนส่งมาอีสานอีกทอด ซึ่งใช้เวลาเดินทาง ไม่ตํ่ากว่า 10-12 ชั่วโมง ซึ่งมีรายงานว่าทางการสปป.ลาว และเวียดนาม บรรลุข้อตกลงจะร่วมกันปรับปรุงเส้นทางเวียงจันทน์-บอลิคำไซ-ท่าเรือนํ้าลึกหวุงอ๋างแล้ว เพื่อให้เป็นเส้นทางขนส่งหลักอีกเส้น และเป็นเส้นทางออกทะเลของสปป.ลาวที่ใกล้ที่สุด

ขณะที่จังหวัดบึงกาฬเตรียมความพร้อมในพื้นที่รองรับ โดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา มาศึกษาความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างสนามบินบึงกาฬ ที่ย้ายจากพื้นที่เดิมมาใช้พื้นที่สาธารณะ ห่างจากตัวสะพานฯประมาณ 7-8 กิโลเมตร

ขณะที่กรมทางหลวงแผ่นดิน อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ โครงการก่อสร้างทางหลวงมาตรฐานสายใหม่ บึงกาฬ- อุดรธานี (อ.กุมภวาปี) ระยะทางประมาณ 159 กิโลเมตร ตามมติของ ครม.สัญจรที่จังหวัดหนองคาย

หอการค้าบึงกาฬได้เสนอให้ศึกษาความเป็นไปได้ การก่อสร้างคลองส่งนํ้าคู่ขนานไปกับแนวถนนสายนี้ในคราวเดียว เพื่อผันนํ้าโขงไปลงอ่างหนองหาน (ฝายกุมภวาปี) เพื่อส่งต่อไปลงเขื่อนอุบลรัตน์ อ.นํ้าพอง จ.ขอนแก่น เติมโครงข่ายชลประทานในภาคอีสานให้มั่นคงยิ่งขึ้น

“นอกจากนี้ต้นเดือนธันวาคม 2564 นี้ รถไฟจีน-ลาว ก็จะเปิดการเดินรถอย่างทางการ สิ่งที่เป็นผลพลอย ได้นอกจากนักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางมากับขบวนรถไฟดังกล่าวแล้ว ยังจะมีนักลงทุนจากจีน ส่วนหนึ่งจะเดินทางเข้ามาสู่ภาคอีสาน และพื้นที่บึงกาฬเพื่อดูแลธุรกิจยางพาราหรือเพื่อการมองหาทางลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพราะปัจจุบันนี้ที่บึงกาฬ ก็มีธุรกิจเกี่ยวกับยางพาราซึ่งแทบทั้งหมดเป็นของนายทุนจีนทั้งสิ้น” นายบุญเพ็งฯ กล่าว 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,724 วันที่ 21-23 ตุลาคม พ.ศ.2564