นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ดำเนินการร่วมกับบริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เพื่อรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสมัยใหม่ S-Curve และ New S-Curve โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นการดำเนินงานในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานที่เอกชนเป็น ผู้ลงทุนพัฒนา และให้บริการระบบสาธารณูปโภค จัดเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 67 โดยใช้ระยะเวลาพัฒนาโครงการประมาณ 2 ปี และจะเปิดขายพื้นที่ หรือให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 4 ปี
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ เน้นกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตเป็นหลัก อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าประจุสูง กิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) โดยโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA : Environmental Impact Assessment) จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว
นิคมอุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ มีพื้นที่ประมาณ 1,181.87 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 831 ไร่ หรือคิดเป็น 70.32% พื้นที่ระบบสาธารณูปโภคประมาณ 204.16 ไร่ คิดเป็น 17.31% และพื้นที่สีเขียวและแนวกันชนประมาณ 146.42 ไร่ คิดเป็น 12.13% ของพื้นที่ทั้งหมด หากมีการลงทุนเต็มพื้นที่แล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนในนิคมฯ ประมาณ 33,200 ล้านบาท เกิดการจ้างงานประมาณ 8,300 คน
“พื้นที่ตั้งโครงการฯ ถือว่าอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี มีการเชื่อมโยงเครือข่ายเส้นทางคมนาคมที่สะดวก โดยเส้นทางเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3702 และเป็นทางคู่ขนานกับมอเตอร์เวย์ ห่างจากบริเวณจุดพักรถมอเตอร์เวย์ 1 กิโลเมตร อยู่ห่างจากสถานีรถไฟพานทอง 10 กิโลเมตร สนามบินสุวรรณภูมิ 44 กิโลเมตร ท่าเรือแหลมฉบัง 60 กิโลเมตร และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด 119 กิโลเมตร ขณะเดียวกันยังมีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้”
นายวีริศ กล่าวต่อไปอีกว่า แนวโน้มการลงทุนในขณะนี้มีสัญญาณบวกชัดเจนขึ้น เห็นได้จากหลายอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้ดี ประกอบกับมีความสนใจการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะมองว่าประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และเหมาะกับการตั้งฐานธุรกิจในระยะยาว เห็นได้จากการย้ายฐานการผลิตที่เป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (จีน-สหรัฐฯ) ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการจากจีนและไต้หวัน ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาย้ายฐานเข้ามาแล้ว 250 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 126,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI )
"เพื่อเป็นการส่งเสริมและเตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุนในอีอีซี ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development : EEC) กนอ.จึงลงนามในสัญญาร่วมดำเนินงาน กับ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ดังกล่าว"