เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติให้ลดค่าไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชน โดยบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก ส่วนบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน หากใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าไฟเดือนกุมภาพันธ์ 64 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง
ขณะที่หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าค่าไฟเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หากไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 , หากใช้ 501 - 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บวกด้วยหน่วยที่มาก กว่าหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ในอัตรา 50%, หากใช้มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 บวกด้วยหน่วยที่มาก กว่าหน่วยของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในอัตรา 70% ทั้งนี้ให้เป็นส่วนลดก่อนการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมาตรการดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้วแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (covid-19) แม้จะคลี่คลายลงไปบ้าง แต่รัฐบาลยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะต่ออายุมาตรการดังกล่าวออกไปอีกหรือไม่
นายอดุลย์ ทองลิ่ม พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ต้องการให้รัฐบาลต่ออายุมาตรการลดค่าไฟฟ้าออกไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน เนื่องจากมองว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือในการบรรเทาผลกระทบเรื่องภาระค่าใช้จ่ายได้อย่างแท้จริง และเห็นผลชัดเจน โดยแม้ว่าสถานการณ์ของโควิดจะดีขึ้น แต่การใช้ไฟฟ้าไม่ได้ลดลงตามไปด้วย เพราะเด็กนักเรียนก็ยังต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์อยู่ ต้องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก และแม้เวลานี้จะเป็นช่วงปิดภาคเรียน แต่เด็กก็ยังต้องอยู่ที่บ้านเป็นส่วนมาก
นอกจากนี้ ปัจจุบันราคาน้ำมันก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทำให้ภาระเรื่องค่าใช้จ่ายขยับขึ้นตามไปด้วย แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการดูแลราคาน้ำมันชนิดดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าไม่ใช่ประชาชนทั้งหมดที่ใช้รถขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากดีเซล ผู้ที่เติมน้ำมันเบนซินยังมีอีกเป็นจำนวนมาก หรือมากกว่าผู้ที่ใช้ดีเซลด้วย ดังนั้น รัฐบาลเองก็ควรที่จะเข้ามาดูแลประชาชนในส่วนนี้ด้วย
“เชื่อว่ายังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากมาตรการของรัฐบาล เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขตามที่รัฐบาลพยายามกำหนด และยังได้รับความเดือดร้อนอยู่ ดังนั้น มองว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำมากที่สุดคือช่วยเหลือประชาชนทุกคน โดยไม่มีเงื่อนไขยุ่งยาก เพราะทุกคนต่างก็เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด”
สอดคล้องกับนางสาวบุญตา เหล็งเอี่ยม พนักงานบริษัทเอกชน ที่กล่าวว่า รัฐบาลควรต่ออายุมาตรการลดค่าไฟฟ้าออกไปอีกอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ เพราะประชาชนยังคงได้รับผลกระทบเรื่องภาระค่าใช้จ่ายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้เพิ่มเติมในการดูแลรักษาตัวเองให้ปลอดภัยจากโควิด เช่น เจลแอลกอฮออล์ หน้ากากอนามัย ค่า ATK เป็นต้น โดยมองว่าการลดค่าไฟฟ้าเป็นมาตรการที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้เป็นจำนวนมาก และเป็นรูปธรรมในสภาวะแบบนี้
“ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังต้องอยู่ที่บ้านเป็นหลัก แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ยังไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ขณะที่ผู้ทำงานบางส่วนก็ยังต้องทำงานที่บ้าน สลับกับการเข้าออฟฟิศ เพราะฉะนั้น ภาระเรื่องของค่าไฟจึงยังคงอยู่”
อย่างไรก็ดี มองว่ารัฐบาลน่าจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาดูแลประชาชนในเรื่องของราคาพลังงาน เช่น ผู้ที่ใช้น้ำมันเบนซิน เนื่องจากไม่ใช่ประชาชนทั้งหมดที่ใช้น้ำมันดีเซล ที่ผ่านมาผู้ที่ใช้น้ำมันเบนซินไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร