นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมฯได้เปิดให้ผู้ขับแท็กซี่ และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกอบอาชีพขับรถอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (29 จังหวัด) มาลงทะเบียนด้วยตนเอง เพื่อรับเงินเยียวยาจำนวน 5,000-10,000 บาทต่อราย
สำหรับเงื่อนไขการลงทะเบียนรับสิทธิ์เยียวยาในครั้งนี้ 1.ผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือต้องเป็นผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่มีอายุเกิน 65 ปี 2.ผู้มีศักยภาพในการขับรถ มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และบัตรประจำตัวผู้ขับรถสาธารณะ 3.รถที่ใช้ประกอบอาชีพต้องชำระภาษีครบถ้วน มีรายชื่อในฐานข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก โดยหลังจากจองสิทธิ์ลงทะเบียนและต้องลงทะเบียนด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ 25 ตุลาคม-5 พฤศจิกายน 2564 ในวันและเวลาราชการ ณ อาคาร 6 ชั้น 7 กรมการขนส่งทางบก กลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งกรุงเทพฯ พื้นที่ 1-4 พร้อมเอกสารที่กำหนด
นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า ส่วนการจ่ายเงินเยียวยา แบ่งเป็น การช่วยเหลือผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ประกอบอาชีพใน 13 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 และฉบับที่ 28 จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตรา 10,000 บาทต่อคน
ขณะที่การช่วยเหลือผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะที่ประกอบอาชีพใน 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง ตามข้อกำหนดฉบับที่ 30 จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตรา 5,000 บาทต่อคน
ทั้งนี้การจ่ายเงินเยียวยาจะดำเนินการผ่านบัญชีพร้อมเพย์เฉพาะการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชน 2 รอบ ดังนี้ รอบที่ 1 สำหรับรถจักรยานยนต์สาธารณะและรถแท็กซี่ส่วนบุคคล จะได้รับเงินระหว่างวันที่ 8-12 พฤศจิกายน 2564 และรอบที่ 2 สำหรับรถแท็กซี่ที่เช่าขับ จะได้รับเงินระหว่างวันที่ 22-26 พฤศจิกายน 2564
นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นมีผู้ได้รับสิทธิ์กว่า 16,000 คน แบ่งเป็น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ 3,000 คน และผู้ขับแท็กซี่ 13,000 คน ในจำนวนนี้เป็น รถแท็กซี่ส่วนบุคคล (สีเขียวเหลือง) ประมาณ 3,000 คัน ส่วนที่เหลือเป็นรถเช่า ประมาณ 13,000 คัน ส่วนหากพบรายชื่อตกหล่น หรือปัญหาอื่นๆ จะประสานงานไปทางกระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน เพื่อตรวจสอบและเยียวยาช่วยเหลือในภายหลังต่อไป ซึ่งปัจจุบันมียอดจองคิวรับสิทธิ์ลงทะเบียนทั่วประเทศ ประมาณ 5,000-6,000 คัน โดยที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (จตุจักร) มีผู้จองสิทธิ์ลงทะเบียนเข้ามาดำเนินการกว่า 800 คน และมีการวอร์คอินประมาณหลักร้อยคน
"ผู้ที่มีคุณสมบัติครบแต่หยุดประกอบอาชีพชั่วคราว หรือกลุ่มที่ย้ายกลับภูมิลำเนาชั่วคราว สามารถลงทะเบียนขอรับสิทธิ์เยียวยาได้ที่ขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์ล่วงหน้าสามารถวอร์คอินเข้ามาได้ แต่อาจจะต้องรอคิวนานกว่ากลุ่มที่มีการลงทะเบียนเข้ามา ดังนั้น แนะนำให้ลงทะเบียนจองวันและเวลาลงทะเบียน ผ่านแอพพลิเคชั่น DLT Smart Queue หรือเว็บไซต์ของกรมการขนส่งทางบก คลิก เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และลดระยะเวลาในการรอดำเนินการอีกด้วย"