เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 64 เวลาประมาณ 15.09 น. ได้เกิดอุบัติเหตุเหตุการปะทุและมีเปลวไฟ ภายในถังเก็บสารแนฟทา (ถังเปล่าภายในถังไม่มีสารแนฟทา) ของบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง ตั้งอยู่ในพื้นที่สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) ถนนไอ 8 ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง โดยมีผู้รับเหมาทั้งสิ้น จำนวน 6 คน ดำเนินการทำความสะอาดภายในถัง (Tank Cleaning) และเกิดการปะทุและมีเปลวไฟขึ้นประมาณ 1 นาที เบื้องต้นมีผู้ปฏิบัติงานเสียชีวิต จำนวน 3 ราย และได้รับบาดเจ็บสาหัส จำนวน 2 ราย บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด ได้รีบนำส่งโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติฯ มาบตาพุด
จากกรณีดังกล่าวนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสั่งการโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้บริษัท มาบตาพุดแทงค์ เทอร์มินอล จำกัด หยุดประกอบกิจการโรงงานในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยถังเก็บสารแนฟทา หมายเลขถัง TK 401C เป็นการชั่วคราว นับตั้งแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
ทั้งนี้ เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบสาเหตุและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยให้บริษัทฯ ตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้างถังเก็บสารแนฟทา หมายเลขถัง TK 401C พร้อมมีหนังสือรับรองการตรวจสอบจากวิศวกร ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 พร้อมทั้งสรุปผลการตรวจสอบและแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขเสนอ กนอ. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา
รวมทั้งตรวจสอบวิเคราะห์หาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน และจัดทำมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ โดยต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานภายนอกที่ให้การรับรองด้านความปลอดภัย (Third Party) พร้อมชี้แจงแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว
“กนอ. ได้สั่งการให้บริษัท มาบตาพุดแทงค์ ฯ หยุดประกอบกิจการบางส่วนเป็นการชั่วคราว โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถควบคุมเปลวไฟได้อย่างรวดเร็วและไม่เกิดผลกระทบกับโรงงานใกล้เคียง รวมทั้งชุมชนโดยรอบ ซึ่งเบื้องต้นทางศูนย์เฝ้าระวังและและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (EMCC) ได้ตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณหน้าบริษัทฯ พบว่า คุณภาพในบรรยากาศอยู่ในเกณฑ์ปกติ"
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งกำชับทุกนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มความเข้มมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในพื้นที่ ตามมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต”(Process Safety Management : PSM) หลังเกิดเหตุการณ์นี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชน และทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ส่วนกรณีเกิดเหตุเพลงไหม้โรงงานโฟมบรรจุสินค้า-ผลิตและจำหน่าย ภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ขอชี้แจงว่า เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร (ปทุมธานี) ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในการกำกับดูแลของ กนอ.แต่อย่างใด