ผู้เลี้ยงหมูอีสานโอดแบกขาดทุนนานกว่า 7 เดือน-น้ำท่วมทุบซ้ำ ขายราคาต่ำทุน

27 ต.ค. 2564 | 13:34 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2564 | 00:02 น.

เกษตรกรเลี้ยงหมูภาคอีสานโอด แบกภาระขาดทุนมานานกว่า 7 เดือน เหตุ PRRS ทำแม่พันธุ์หมูเสียหายทั่วประเทศ 40% กระทบสุกรขุนมีผลผลิตน้อย น้ำท่วมอีสานทุบซ้ำ โรงฆ่าสัตว์ปิดตัวทำต้นทุนพุ่ง ขณะขายได้ราคาต่ำกว่าต้นทุน

 

นายสิทธิพันธ์  ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีสุกรเสียหายมากพอสมควร ประกอบกับปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ ( PRRS)ที่ระบาดในช่วงก่อนหน้านี้ ส่งผลกระทบต่อสุกร โดยเฉพาะในส่วนของแม่พันธุ์ ซึ่งทั่วประเทศเสียหายประมาณ 30 - 40 % ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสุกรขุนลดลงในสัดส่วนเดียวกัน ขณะที่ก่อนหน้านี้ราคาสุกรลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากในพื้นที่น้ำท่วมติดปัญหาโรงฆ่าสัตว์ปิดตัว ไม่สามารถนำสุกรเข้าโรงฆ่าได้  ประกอบกับปัญหาด้านการเดินทางที่ไม่สะดวก จึงกระทบกับการนำส่งไปยังโรงฆ่าสัตว์

 

ผู้เลี้ยงหมูอีสานโอดแบกขาดทุนนานกว่า 7 เดือน-น้ำท่วมทุบซ้ำ ขายราคาต่ำทุน

 

ทั้งนี้ฟาร์มสุกรในภาคอีสานส่วนใหญ่จะเป็นฟาร์มรายย่อย  หากประสบปัญหาเรื่องโรคการกลับมาเลี้ยงใหม่จะทำได้ยาก ฟาร์มต่าง ๆ จึงยกระดับการป้องกันโรค เพื่อป้องกัน ASF ด้วยการทำระบบ Biosecurity ในฟาร์มอย่างเข้มงวด กลายเป็นต้นทุนแฝง ส่งผลให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น 4-5 บาทต่อกิโลกรัม

 

ภาพจาก nationtv

 

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวอีกว่า ในภาวะปกติแม่พันธุ์สุกรทั่วประเทศมีปริมาณ 1.2  ล้านตัว แต่ปัจจุบันมีปริมาณเพียง 7-8 แสนตัว ผลผลิตสุกรขุนที่ออกสู่ตลาดจึงมีจำนวนน้อยลงไปด้วย ส่งผลให้ราคาขยับทุกพื้นที่  แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามต้นทุนการผลิตได้ เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นสัดส่วนหลักในสูตรการผลิตอาหารสัตว์มากถึง 50 %  โดยต้นทุนสุกรขุนเฉลี่ยไตรมาส 3 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) อยู่ที่ 80.03  บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาประกาศสุกรหน้าฟาร์มโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติอยู่ที่ 76-80 บาท ส่วนสุกรขุนในภาคอีสานราคาอยู่ที่ 76-78 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงทั่วประเทศต้องประสบกับภาวะการขาดทุนสะสมมายาวนานถึง 7 เดือนแล้ว

 

ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศยังคงต้องเฝ้าระวังในการควบคุมและป้องกันโรคสำคัญในสุกรทั้ง ASF และ PRRS อย่างเข้มงวด รวมทั้งเน้นการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน แม้ว่าต้นทุนการผลิตต้องสูงขึ้น แต่เพื่อให้ผู้บริโภคมีปริมาณสุกรคุณภาพดีปลอดภัยต่อการบริโภค เกษตรกรทุกคนยินดีที่จะเดินหน้าตามมาตรฐานนี้อย่างเข้มแข็ง