วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) วงเงิน 140 ล้านบาท และเพื่อควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ วงเงิน 684 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.การป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า วงเงิน 140 ล้านบาท ใช้เป็น 1)ค่าชดเชยสุกรที่ถูกทำลาย ซึ่งเป็นสุกรที่เข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรค โดยผลตรวจเลือดสุกรที่ถูกทำลายนั้นไม่พบการติดเชื้อโรค ASF แต่อย่างใด 2)ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกี่ยวกับการเฝ้าระวังโรค ตรวจวินิจฉัย และทำลายเชื้อโรคหรือซากสัตว์
ในภาพรวมสถานการณ์ของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในปัจจุบัน มีการระบาดอย่างต่อเนื่องเป็นวงกว้างในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งพบการระบาดในทวีปเอเชียครั้งแรกที่ประเทศจีน เมื่อปลายปี 2561 และล่าสุดเมื่อต้นปี 2564 พบการระบาดในประเทศมาเลเซีย ลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา เป็นต้น
แต่ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่มีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพราะรัฐบาลสนับสนุนให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการเฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยง และปฏิบัติตามแผนรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง โดยจัดสรรงบกลางปี 2563 จำนวน 523 ล้านบาท และงบกลางปี 2564 จำนวน 279 ล้านบาท
2.การควบคุมโรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ วงเงิน 684 ล้านบาท แบ่งเป็น 1)ค่าตอบแทนอาสาปศุสัตว์ 2)ค่าจัดซื้อวัคซีนโรคลัมปี สกิน จำนวน 5 ล้านโด๊ส เพิ่มเติมจากที่นำเข้าก่อนหน้านี้ 3)ค่าจัดซื้อเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อในฟาร์มและพาหนะในการเคลื่อนย้ายสัตว์ 4)ค่าจัดซื้อเวชภัณฑ์เพื่อรักษาและฟื้นฟูบำรุงสุขภาพโคกระบือ 200,000 ตัว และ5)ค่าวัสดุวิทยาศาสตร์เพื่อการแพทย์ สำหรับการเก็บตัวอย่างฉีดวัคซีนและรักษา
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า เนื่องจาก "โรคลัมปี สกิน ในโคและกระบือ" เป็นโรคอุบัติใหม่ในไทย จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ ขณะนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประสานกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน จากพืช คาดว่าอีกประมาณ 2 สัปดาห์ จะมีการรายงานผลการพัฒนาวัคซีนจากพืชอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะถือเป็นต้นแบบในการผลิตวัคซีนจากพืชสำหรับการป้องกันโรคอื่นๆ ต่อไป