นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งดำเนินการพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ ทั้งด้านการพัฒนาองค์ความรู้ การบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ พร้อมยกระดับการบริการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันในยุค next normal โดยในปีงบประมาณ 2565 ได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งใน ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ 2 กิจกรรมคือ
กิจกรรมสร้างศักยภาพธุรกิจและการบริการโลจิสติกส์รองรับการค้ายุคใหม่ เป็นการเสริมสร้างความรู้ทั้งกลยุทธ์การบริหารจัดการองค์กร การเสริมสร้างศักยภาพและโอกาสทางการค้าธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ด้วยเทคโนโลยี กิจกรรมให้ความรู้ และฝึกปฏิบัติจริง (Workshop) การฝึกใช้เทคโนโลยีช่วยจัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูล และการบริหารจัดการธุรกิจที่เหมาะสมกับประเภทธุรกิจ เพื่อวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว สร้างความโปร่งใส ลดการใช้ทรัพยากร ต้นทุน และรายจ่าย โดยตั้งแต่ปี 2549-2564 มีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องผ่านการอบรมในกิจกรรมนี้จำนวน 5,024 ราย สำหรับในปีนี้จะมีธุรกิจฯ ที่ผ่านกิจกรรมเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 750 ราย
ส่วนกิจกรรมยกระดับความเชื่อมั่นธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ด้วยมาตรฐานสากล ตั้งแต่ปี 2553-2564 มีธุรกิจที่ได้พัฒนาและผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO แล้ว จำนวน 678 ราย และในปีนี้คาดว่าจะมีธุรกิจที่ผ่านมาตรฐาน ISO จำนวน 36 กิจการ และสร้างกำไรให้กับธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 อีกทั้ง ธุรกิจทั้งหมดนี้จะสามารถออกไปสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 58 ล้านบาท
ทั้งนี้การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ถือเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ของไทย ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมาโลจิสติกส์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทุกคนต้องหลีกเลี่ยงการเดินทางและการรวมตัวจึงใช้เวลาอยู่ในที่พักเป็นส่วนใหญ่ พฤติกรรมการดำเนินชีวิตปรับเปลี่ยนเป็นการใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจขนส่งจึงกลายเป็นเครื่องมือที่จะเชื่อมโยงระหว่างสินค้ากับผู้บริโภคให้ถึงกัน เมื่อมีความต้องการจากผู้บริโภคที่มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดทำให้พื้นที่ในธุรกิจโลจิสติกส์เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้นตามมา มีการแข่งขั้นทั้งด้านราคาที่ถูกลง การใช้เทคโนโลยี และการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว ดังนั้น ผู้ให้บริการโลจิสติกส์จะต้องเร่งปรับตัวเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและตอบสนองความต้องการของลูกค้าออนไลน์มากขึ้น
“ กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่เพียงธุรกิจการจัดส่งสินค้าเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมครอบคลุมทั้ง Supply Chain ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง อย่างธุรกิจคลังสินค้า ตัวแทนออกของรับอนุญาต บริการรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และบริการโลจิสติกส์ครบวงจรด้วยเพราะฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปธุรกิจจึงจำเป็นต้องหาเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประมวลผลและวิเคราะห์ เพิ่มความรวดเร็ว ความถูกต้องแม่นยำสามารถตรวจสอบได้ และระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น”
และ จากการผ่อนคลายนโยบายด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ในการประกาศเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัวจะส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจในประเทศอย่างมาก เกิดการค้าขายที่คึกคักมากขึ้นและเป็นผลทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ได้รับอานิสงค์ในครั้งนี้ไปด้วย ซึ่งธุรกิจที่ผ่านการพัฒนาในหลักสูตรข้างต้นจะมีความพร้อมรับมือบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างดี ไม่เสียโอกาสในการให้บริการช่วงที่มีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติได้อีกด้วย
จากข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ จำนวน 30,568 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.77 จากจำนวนนิติบุคคลทั้งประเทศ