กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ได้ประสานจังหวัดเตรียมสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง โดยสำรวจแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยควบคู่กับการสำรวจแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก พร้อมวางแผนสูบระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมไปกักเก็บไว้ใช้
ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 บางพื้นที่มีปริมาณฝนตกมาก แต่ในบางพื้นที่ยังมีปริมาณฝนตกน้อย ทำให้แหล่งน้ำมีปริมาณน้ำกักเก็บน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง ดังนั้น ปภ.ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ โดยประสานจังหวัดร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจแหล่งน้ำที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการประกอบอาชีพ
โดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยและมีความเหมาะสม ในการใช้เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล ควบคู่กับการสำรวจแหล่งน้ำต้นทางที่มีปริมาณน้ำมากหรือเพียงพอ รวมถึงวางแผนสูบระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมไปกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อย
ทั้งนี้ ได้นำร่องสั่งใช้เครื่องสูบน้ำตามความเหมาะสมกับ สภาพพื้นที่สูบน้ำไปกักเก็บในแหล่งน้ำแล้วรวม 9 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรปราการ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เพชรบูรณ์ สกลนคร กำแพงเพชร ศรีสะเกษ และอุดรธานี
โดยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป ปภ.ได้ขยายพื้นที่ดำเนินการเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง โดยมีจังหวัดที่ได้ดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำไปแล้ว จำนวน 48 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ชุมพร เชียงราย ตาก บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี พะเยา พัทลุง พิจิตร มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร สกลนคร สุรินทร์ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี เชียงใหม่ ลำปาง เพชรบูรณ์ ลพบุรี อุทัยธานี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา นครนายก อ่างทอง ชลบุรี ระยอง มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุดรธานี นครราชสีมา หนองคาย ขอนแก่น นครสวรรค์ น่าน ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี ยะลา ลำพูน เลย สงขลา และสระแก้ว