"ระบบขนส่งสาธารณะ" พร้อมให้บริการผู้โดยสาร รับแผนเปิดประเทศ

01 พ.ย. 2564 | 09:29 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ย. 2564 | 16:42 น.

“บีทีเอส” เดินหน้าให้บริการรถไฟฟ้า รับนักท่องเที่ยวเข้าไทย หลังภาครัฐเปิดประเทศ คาดปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นกลับมาเท่าเดิม ราว 8-9 แสนรายต่อวัน ขณะที่ขสมก.เปิดเดินรถ กว่า 2 พันคัน ตลอดคืน ฟากกพท.ประสานสนามบิน-สายการบิน ปรับมาตรฐานให้บริการ รองรับเที่ยวบินต่อเนื่อง

นายสุรงพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เปิดเผยว่า สำหรับการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ในส่วนของรถไฟฟ้าบีทีเอสยังคงมาตรการการดูแลและป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เบื้องต้น บริษัทได้มีการเพิ่มความถี่ในการเดินรถเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสมากขึ้น โดยนำขบวนรถออกให้บริการรวม 98 ขบวน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร และลดความแออัดภายในขบวนรถ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่สถานี แม่บ้าน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เข้ารับการตรวจคัดกรองทุกครั้งก่อนปฏิบัติงาน พร้อมเพิ่มความถี่ในการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทั้งในขบวนรถ จุดให้บริการสถานีต่างๆ และจุดสัมผัสต่างๆ ขณะที่ผู้โดยสารต้องสวมหน้ากากอนามัยด้วย รองรับนโยบายการเปิดประเทศของภาครัฐ

 

 

นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า หลังจากคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.มีมติปรับระดับพื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุด (สีแดงเข้ม) จาก 23 จังหวัด เหลือ 7 จังหวัด ทางบริษัทฯ จึงมีการปรับเวลาการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าสายสีทอง และรถด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) เปิดให้บริการตามปกติทุกสถานี เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน นี้ ตั้งแต่เวลา 06.00 น. - 24.00 น. ขณะที่ลานจอดแล้วจรให้บริการตามปกติ เวลา 05.00 – 01.00 น.

 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม. และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT พร้อมให้ความร่วมมือดำเนินการตามมติ ศบค. โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป รถไฟฟ้า MRT จะปรับเวลาให้บริการตามปกติโดยรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) เปิดให้บริการเวลา 06.00- 24.00 น. และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) เปิดให้บริการวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 05.30 - 24.00 น. และวันเสาร์ – อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 06.00 – 24.00 น.

ส่วนอาคารและลานจอดแล้วจรของ รฟม. จะเปิดให้บริการเวลาตามปกติทุกแห่ง คือ 05.00 – 01.00 น. โดยปัจจุบัน รฟม. มีที่จอดรถในแนวสายทางรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน จำนวน 10 สถานี ประกอบด้วย 4 อาคาร และ 10 ลานจอดรถ ได้แก่ อาคารจอดแล้วจรสถานีลาดพร้าว สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สถานีหลักสอง (2 อาคาร) ลานจอดแล้วจรสถานีรัชดาภิเษก สถานีห้วยขวาง สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย (2 ลาน) สถานีพระราม 9 สถานีเพชรบุรี สถานีสุขุมวิท สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (2 ลาน) และสถานีสามย่าน ที่จอดรถในแนวสายทางรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จำนวน 4 สถานี ได้แก่ อาคารจอดแล้วจรสถานีคลองบางไผ่ สถานีสามแยกบางใหญ่ สถานีบางรักน้อยท่าอิฐ และสถานีแยกนนทบุรี 1 ที่จอดรถในแนวสายทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ จำนวน 1 สถานี ได้แก่ ลานจอดแล้วจรสถานีเคหะฯ และที่จอดรถในแนวสายทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จำนวน 2 สถานี ได้แก่ อาคารจอดแล้วจรสถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต

 

รายงานข่าวจากกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมรับการเปิดประเทศนั้น เบื้องต้นกระทรวงคมนาคมได้เร่งให้กรมฯผลักดันนโยบายให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้ เพื่อลดปริมาณรถบรรทุกจากภาคใต้เข้าสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด - 19 ทำให้ล่าช้ากว่าแผน และพัฒนาท่าเรือให้เป็นยอร์ชคลับ รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย สร้างรายได้ให้การท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมทั้งการพัฒนาท่าเรือให้เป็นระบบท่าเรืออัตโนมัติ เชื่อมต่อระบบขนส่งอื่น อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน

 

 

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวต่อว่า กรมฯได้ออกประกาศยกเลิกจำกัดเวลาให้บริการบริเวณโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย (M7) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สาย (M9) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ เป็นต้นไป เพื่อรองรับการเปิดประเทศของภาครัฐ

รายงานข่าวจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด กล่าวว่า ขสมก.ได้มีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เบื้องต้นได้กำหนดให้มีการเดินรถในเส้นทางปกติ จัดรถออกวิ่ง วันละ 2,886 คัน จำนวน 20,000 เที่ยวจัดเดินรถบริการตลอดคืน (รถกะสว่าง) ตามปกติ จำนวน 23 เส้นทาง โดยเริ่มให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2564 รวมทั้งจัดเดินรถเชื่อมต่อท่าอากาศยาน จำนวน 6 เส้นทาง รวม 60 คัน

 

ส่วนด้านพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร) เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) จำนวน 9,000 คน คิดเป็น 98% ของพนักงานประจำรถทั้งหมด 

 

 

รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ภายหลังการเปิดประเทศนั้น กพท.ได้ประสานไปยังผู้บริหารสนามบินและสายการบิน เพื่อปรับแผนการให้บริการภายหลังจากรัฐบาลปลดล็อกการเดินทาง เนื่องจากจะมีการเปิดจุดบินมากขึ้น และมีการขยายโครงการแซนด์บ็อกซ์ไปยังจังหวัดต่างๆ ขณะเดียวกันกพท.ได้ประสานให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศ และยังอยู่ในโครงการแซนด์บ็อกซ์ เพื่อเตรียมความพร้อมปรับมาตรฐานการให้บริการให้กลับมาใกล้เคียงกับช่วงปกติก่อนเกิดโควิด-19 ให้สามารถรองรับเที่ยวบินต่อเครื่อง นอกเหนือจากเที่ยวบินปกติ