ครม.ทุ่มงบกว่า 3.6 พันล้านบาท หนุนพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 -วัคซีนใบยา ของไทย 

04 พ.ย. 2564 | 08:45 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2564 | 15:46 น.

ครม.อนุมัติงบกว่า 3,625 ล้านบาท หนุนงานวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด ChulaCov19 mRNA และ วัคซีนใบยา ฝีมือคนไทยเพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ใช้ได้เอง พร้อมต่อยอดเทคโนโลยีสู่การผลิตวัคซีนป้องกันโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

4 พฤศจิกายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด19 ChulaCov19 mRNA เพื่อทำการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน กรอบวงเงิน 2,316 ล้านบาท

ทั้งยังเห็นชอบในหลักการโครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Baiya) กรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม (อว.) โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินเพิ่มเติมฯ พ.ศ.2564 มีรายละเอียดดังนี้

1.โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 "ChulaCov19 mRNA" กรอบวงเงิน 2,316 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการทดสอบวิจัยในอาสาสมัครระยะที่ 3 เพื่อใช้ในการขึ้นทะเบียนตามเกณฑ์ที่องค์การอาหารและยา (อย.) กำหนด และเพื่อการผลิตวัคซีนสำหรับทดสอบระยะที่ 3

เตรียมการผลิตสำหรับขึ้นทะเบียนรับรองจาก อย. ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานของการผลิตวัคซีนชนิด mRNA อย่างครบวงจร ทำให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ใช้ได้เอง และสามารถต่อยอดเทคโนโลยีนี้สู่การผลิตวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอื่น ๆ รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการกำหนดกลไกการกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

2.โครงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Baiya (ผลิตจากใบยา) กรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในส่วนของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 อาสาสมัครอย่างน้อย 10,000 คน ตามหลักเกณฑ์ของ อย. ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ไทยสามารถผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ตั้งแต่ต้นน้ำด้วยตัวเอง และสามารถฉีดกระตุ้นภูมิให้ประชาชนคนไทยได้อย่างน้อย 60 ล้านโดสต่อปี

โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในไทยและผ่านการทดสอบในระยะต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานสากล ส่งผลให้ไทยมีข้อมูลการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศที่น่าเชื่อถือตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเร่งจัดทำรายงานผลการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ของวัคซีนใบยา เสนอสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาอนุมัติงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป