ในงานสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ “สมุนไพรไทย สมุนไพรโลก THAI HUB : THAI HERB" จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (4 พ.ย. 64) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ยุทธศาสตร์สมุนไพรไทย สู่สมุนไพรโลก” ใจความสำคัญระบุว่า จากวิกฤติโควิด-19 ได้สร้างโอกาสให้กับสมุนไพรไทยในการเคลื่อนสู่สมุนไพรโลก ซึ่งจะสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมาก เนื่องจากเวลานี้ตลาดทั้งในและต่างเทศกำลังขยายตัว ถือว่าไทยเดินมาถูกทาง
ชิงตลาดโลก 1.8 ล้านล้าน
สำหรับมูลค่าการบริโภคสมุนไพรในแต่ละภูมิภาคของโลกในปี 2564 คาดจะมีมูลค่า 54,957 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.81 ล้านล้านบาท) โดยประเทศที่มีมูลค่าการบริโภคสมุนไพรสูงสุดของโลกใน 5 อันดับแรก (จาก 99 ประเทศ) ประกอบด้วย จีนมูลค่า 17,039.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วน 32%), สหรัฐอเมริกา 7,636.40 ล้านดอลลาร์ฯ (14%), ญี่ปุ่น 4,628.6 ล้านดอลลาร์ฯ (7%), เกาหลีใต้ 2,965.70 ล้านดอลลาร์ฯ (5%) และเยอรมนี 2,155.80 ล้านดอลลาร์ฯ (4%) ส่วนไทยอยู่อันดับ 8 ของโลก มูลค่า 1,483.5 ล้านดอลลาร์ฯ (3%)
ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยในช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวต่อเนื่อง กระทั่งปี 2563 ขนาดของตลาดเล็กลงจากผลกระทบโควิด (ปี 2564 คาดมีมูลค่าตลาดที่ 45,646 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม คาดตลาดสมุนไพรไทยจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ด้วยอัตราเฉลี่ยการขยายตัว 5% ต่อปี และจะมีมูลค่าถึง 7.8 หมื่นล้านบาทในปี 2569
สำหรับในช่วงสถานการณ์โควิดไทยมีสมุนไพรที่เป็นโพรดักส์แชมป์เปี้ยน 3 รายการ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว และกระชายดำ ที่สามารถลดการอักเสบของปอดได้ดีกว่าเมื่อเทียบกับยาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งทางกระทรวงฯจะแถลงผลวิจัยการทดลองการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วย 500 คนในเดือนธันวาคมนี้ ขณะเดียวกันได้ให้นโยบายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมมือกับจีนในการทำวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคของจีนในเรื่องนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสทางการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของโลกอีกมหาศาล อีกด้านหนึ่งจะช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรจากต่างประเทศของไทยลงได้ รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยยังมีโอกาสทางการตลาดในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่นอีกมาก ซึ่งภาครัฐจะช่วยสนับสนุนเกษตรกรรวมถึงผู้ประกอบการในการรุกตลาด
นอกจากนี้จะผลักดัน 12 พืชสมุนไพร รวมทั้งกัญชา กัญชง และกระท่อมเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนของประเทศ ซึ่งจะได้มีการโปรโมตให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้แก่ กราวเครือขาว กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก มะขามป้อม กระชายขาว พริก ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง หญ้าหวาน ว่านหางจระเข้ และไพล
“โอกาสสมุนไพรไทยสู่สมุนไพรโลกมีทั้งผ่านร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่ทั่วโลก การใช้ความหลากหลายทางชีวภาพที่ไทยมีวัตถุดิบสมุนไพรจำนวนมากสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และกระจายตลาดสินค้าผ่านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของคนไทยและต่างชาติในการซื้อเป็นของฝาก การใช้สมุนไพรผ่านร้านนวดและสปาแผนไทยใน 57 ประเทศ และการต่อยอดสมุนไพรที่มีศักยภาพเช่นฟ้าทะลายโจร กระชาย เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันในสถานการณ์โควิด รวมถึงสนับสนุนการใช้สมุนไพร 3 รายการคือกัญชา กัญชง และกระท่อมในการแพทย์ทางเลือกเพื่อรักษาผู้ปวยมะเร็ง นอนไม่หลับ โรคพาร์กินสัน และอื่นๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายว่าให้หาทางผลักดันสมุนไพรเป็นยาสามัญประจำบ้าน และมีคลีนิกสมุนไพรทั่วประเทศเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล ซึ่งจะได้ผลักดันต่อไป”
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในหัวข้อ “สมุนไพรยุคโควิด พลิกชีวิตเกษตรกรไทย” ว่า สมุนไพรไทยเป็นเวทีแห่งโอกาสของประเทศ เพราะประเทศไทยเป็นดินแดนสมุนไพร และเป็นอาหารแห่งอนาคต (ฟิวเจอร์ ฟู้ดส์) เพราะฉะนั้นเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะแผนแม่บทในการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับ ที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ภายใต้การขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ ที่จะได้มีการต่อยอดในยุคที่เรายังต้องเผชิญกับโควิด พลิกวิกฤติเป็นโอกาส
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายของแผนแม่บท ให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของโลกเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศในยุคโควิด เมื่อพิจารณาโอกาส มูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรและเครื่องเทศในตลาดโลก มีมูลค่าการค้าประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐฯ เป็นต้น โดยในปี 2564 คาดตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในประเทศจะมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท เป็นตัวเลขที่เติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว จากอานิสงส์โควิด-19
กัญชา-กัญชงโลกพุ่ง 3 ล้านล้าน
ส่วนมูลค่าตลาดกัญชาของไทยปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2567 จะก้าวกระโดดไปที่ 2,500 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ตลาดกัญชา และกัญชงโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า คาดมีมูลค่ากว่า 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดสหภาพยุโรป 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สหรัฐอเมริกา 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง 2 ตลาดนี้ รวมกันก็เป็น 80% ส่วนตลาดเอเชีย มีมูลค่าประมาณ 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับสัดส่วนการตลาด หรือ Market share จะอยู่ที่ อเมริกาเหนือ 40 % ,สหภาพยุโรป หรือ อียู 31 % และคาดว่าอียูจะแซงอเมริกาเหนือแน่นอน แต่จะมีเปิดมากเปิดน้อย หรือเปิดแบบเสรี อย่างน้อย มี 69 ประเทศ จาก 193 ประเทศทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วน 36% ของประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ตามในตลาดกัญชา จะมี 5 ปัจจัยที่จะบ่งบอกว่าจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน คือ 1.เรื่องของกฎหมาย 2.ผลผลิตและผลิตภัณฑ์ 3.ตลาดภายในและต่างประเทศ 4.อาหารและอาหารสัตว์ และ 5.เทคโนโลยีพันธุ์-การผลิต-แปรรูป-ตลาด
บิ๊กธุรกิจแข่งขยายตลาด
ในส่วนของประเทศไทยหลังจากรัฐบาลปัจจุบันปลดล็อก “กัญชาและกัญชง” ก็ทำให้เกิดกระแสกัญชากัญชงฟีเวอร์ ทำให้หลายบริษัทนำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม อาทิ อิชิตัน ส่ง “อิชิตัน กรีนแลป เดอะ แคนนาบิส คลับ”, NRF ผู้นำ Plant Based Meat ร่วมกับ บริษัท Golden Triangel ของทอม เครือโสภณ รุกตลาด หรือแม้กระทั่ง บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA เริ่มปลูกในจังหวัดน่าน สกลนครและชัยภูมิก่อน คาดว่าเดือนตุลาคม จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในรูปแบบเมล็ดและดอกเพื่อจำหน่าย ปี2566 ตั้งโรงสกัดน้ำมัน CBD จากกัญชา
ในส่วนกระทรวงเกษตรฯ ภายใต้นโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศฮับสมุนไพรของประเทศไทย เช่น โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่โดยมีกลุ่มแปลงใหญ่พืชสมุนไพร จำนวนทั้งสิ้น 37 แปลง ใน 22 จังหวัด เกษตรกร 1,565 ราย รวมพื้นที่จำนวน 7,913 ไร่ ทำแมชชิ่งกับโรงพยาบาลใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เรียกว่า ผลิตที่ไหน แปรรูปที่นั่น
โชว์แผนขับเคลื่อนครั้งใหญ่
สำหรับ Next move หรือก้าวใหม่ ในปี 2565 จะมีการปรับปรุงแผน ฉบับที่2 แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับที่ 1 พ.ศ.2560-2564 จะมีแนวทางส่งเสริม (Food & Feed) และ post COVID-19 plan เร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคการเกษตรในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง บน 5 คลัสเตอร์ทางการเกษตรได้แก่ คลัสเตอร์ผลไม้คลัสเตอร์ประมง คลัสเตอร์พืช คลัสเตอร์พืชสมุนไพร และคลัสเตอร์พืชมูลค่าสูง สอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และยุคโควิด, เดินหน้าโครงการ 1 ตำบล 1 แปลงใหญ่สมุนไพร 1 จังหวัด 1 แปลงสมุนไพร เป็นต้น
“นอกจากนี้จะมีการประกาศแผนขับเคลื่อนอาหารสัตว์สมุนไพรในงาน “Thailand International Health Expo 2022” ระหว่างวันที่ 20 -23 มกราคม 2565 ในรูปแบบ HYBRID EXPO ในรูปแบบ Onsite และ Online โดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ตลาดตรงนี้มีความน่าสนใจ เราเป็นประเทศแรกในโลกได้เดินหน้าในเรื่องนี้ และเชื่อว่าฐานของโลก ในลำดับการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงจะทำให้เป้าหมายมีพลังมากทีเดียว และนี่เป็น “BIG MOVE" ที่ใหญ่ที่สุด”
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3729 วันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2564