ในงานสัมมนา “สมุนไพรไทย สมุนไพรโลก THAI HUB : THAI HERB จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (4 พ.ย. 64) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ยุทธศาสตร์สมุนไพรไทย สู่สมุนไพรโลก” ใจความสำคัญระบุว่า จากวิกฤติโควิด-19 ได้สร้างโอกาสให้กับสมุนไพรไทยในการเคลื่อนสู่สมุนไพรโลก ซึ่งจะสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมาก จากโอกาสทางการตลาดยังมีมหาศาล
ทั้งนี้มูลค่าการบริโภคสมุนไพรในแต่ละภูมิภาคของโลกในปี 2564 คาดจะมีมูลค่า 54,957 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 1.81 ล้านล้านบาท) ประเทศที่มีมูลค่าการบริโภคสมุนไพรสูงสุดของโลกใน 5 อันดับแรก (จาก 99 ประเทศ) ประกอบด้วย จีนมูลค่า 17,039.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(สัดส่วน 32%), สหรัฐอเมริกา 7,636.40 ล้านดอลลาร์ฯ (14%), ญี่ปุ่น 4,628.6 ล้านดอลลาร์ฯ (7%), เกาหลีใต้ 2,965.70 ล้านดอลลาร์ฯ (5%) และเยอรมนี 2,155.80 ล้านดอลลาร์ฯ (4%) ส่วนไทยอยู่อันดับ 8 ของโลก มูลค่า 1,483.5 ล้านดอลลาร์ฯ (3%)
ขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยของไทยในช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวต่อเนื่อง กระทั่งปี 2563 ขนาดของตลาดเล็กลงจากผลกระทบโควิด อย่างไรก็ตามคาดตลาดสมุนไพรไทยจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ด้วยอัตราเฉลี่ยการขยายตัว 5% ต่อปี และจะมีมูลค่าถึง 7.8 หมื่นล้านบาทในปี 2569
สำหรับในช่วงสถานการณ์โควิดไทยมีสมุนไพรที่เป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยน 3 รายการ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร กระชายขาว และกระชายดำ ที่สามารถลดการอักเสบของปอดได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับยาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งทางกระทรวงฯจะแถลงผลการวิจัยการทดลองใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วย 500 คนในเดือนธันวาคมนี้ ขณะเดียวกันได้ให้นโยบายกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมมือกับจีนในการทำวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคของจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของโลกในเรื่องดังกล่าว จะทำให้ไทยมีโอกาสทางการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรในจีนอีกมา ด้านหนึ่งจะช่วยลดการนำเข้าวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรจากต่างประเทศของไทยลงได้จากที่ผ่านมาไทยมีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก
นอกจากนี้จะผลักดัน 12 พืชสมุนไพร รวมทั้งกัญชา กัญชง และกระท่อมเป็นโปรดักส์แชมป์เปี้ยนของประเทศ ซึ่งจะได้มีการโปรโมตให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเพื่อโอกาสทางการตลาดมากขึ้น ได้แก่ กราวเครือขาว กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก มะขามป้อม กระชายขาว พริก ฟ้าทะลายโจร กระเจี๊ยบแดง หญ้าหวาน ว่านหางจระเข้ และไพล
ทั้งนี้ตลาดสมุนไพรของโลกใน 3 อันดับแรกได้แก่ จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มความต้องการของตลาดสูง โดยพฤติกรรมกการบริโภคของชาวจีนสนใจในเรื่องการบำรุงรักษาสุขภาพมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สปา และเครื่องสำอางสมุนไพร ซึ่งไทยต้องมีกลยุทธ์และต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนเพื่อให้ชาวจีนใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากไทยเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดสหรัฐฯนิยมบริโภคอาหารและเครื่องดื่มจากธรรมชาติหรือเกษตรอินทรีย์ และตลาดญี่ปุ่นนิยมนำสมุนไพรไปใช้ในการปรุงอาหารทั้งในครัวเรือน และอุตสาหกรรม รวมถึงใช้ผสมอาหารสัตว์ ยา และเครื่องสำอาง ซึ่งในตลาดเหล่านี้ภาครัฐจะช่วยสนับสนุนเกษตรกรรวมถึงผู้ประกอบการในการรุกตลาด
“โอกาสสมุนไพรไทยสู่สมุนไพรโลกมีทั้งผ่านร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่ทั่วโลก การใช้ความหลากหลายทางชีวภาพที่ไทยมีวัตถุดิบสมุนไพรจำนวนมากสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และกระจายตลาดสินค้าผ่านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของคนไทยและต่างชาติในการซื้อเป็นของฝาก การใช้สมุนไพรผ่านร้านนวดและสปาแผนไทยใน 57 ประเทศ และการต่อยอดสมุนไพรที่มีศักยภาพเช่นฟ้าทะลายโจร กระชาย เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันในสถานการณ์โควิด รวมถึงสนับสนุนการใช้สมุนไพร 3 รายการคือกัญชา กัญชง และกระท่อมในการแพทย์ทางเลือกเพื่อรักษาผู้ปวยมะเร็ง นอนไม่หลับ โรคพาร์กินสัน และอื่น ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายว่าให้หาทางผลักดันสมุนไพรเป็นยาสามัญประจำบ้าน และมีคลีนิกสมุนไพรทั่วประเทศเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล ซึ่งจะได้ผลักดันต่อไป”
ขณะเดียวกันมี 5 ประเด็นที่ต้องทำในงานแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยเพื่อขับเคลื่อนแผนงานและเป้าหมายให้เป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยา อาหาร เครื่องสำอาง และสปาไทย ต้องจัดการและทำการตลาดให้เป็นที่แพร่ฟลาย โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดโปรดักส์ แชมป์เปี้ยน นอกจากกัญชา ฟ้าทะลายโจรแล้วยังต้องสนับสนุนสมุนไพรที่เป็นเรือธง เช่น ขมิ้นชัน กระจายข้าว กระชายดำ กราวเครือ เป็นต้น
2.ประเด็นเรื่องบริการ สนับสนุนให้การบริการแพทย์แผนไทยเป็นส่วนสำคัญของระบบสุขภาพ โดยเฉพาะการบริการปฐมภูมิ การบริการเฉพาะด้าน การบริการระยะกลาง intermediate care และการบริการระยะสุดท้าย Palliative care และให้เกิด Home Palliative care ด้วยแพทย์แผนไทย
3.ประเด็นการคุ้มครองภูมิปัญญา ยกระดับภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และหมอพื้นบ้านไทยให้มีส่วนร่วมในระบบสุขภาพและให้ความสำคัญกับการคุ้มครองภูมิปัญญา ให้ความสำคัญกับการขึ้นทะเบียนและจดสิทธิบัตร เพื่อป้องกันการลักลอบภูมิปัญญาไทย
4.ประเด็นศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ แพทย์แผนไทยถือเป็นวิชาชีพหลักวิชาชีพหนึ่ง ต้องได้รับการสนับสนุนให้เป็นที่ยอมรับและมีศักดิ์ศรี ไม่ใช่ถูกมองเป็นแพทย์ทางเลือกหรือแพทย์ชั้นสองเหมือนในอดีต แพทย์แผนไทยต้องมีที่ยืนอย่างสมศักดิ์ศรีในระบบสุขภาพ
5.ด้านการวิจัย ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยอย่างจริงจัง จะได้เป็นที่ยอมรับ ที่ผ่านมางานแพทย์แผนไทยมีข้อจำกัดในวิธีการวิจัย ต้องใช้ระเบียบวิธีแบบแพทย์แผนปัจจุบัน จึงทำให้การวิจัยในงานแพทย์แผนไทยไม่ประสบผลสำเร็จ จำเป็นต้องสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาออกแบบระเบียบวิธีวิจัยของแพทย์แผนไทยโดยเฉพาะ จะได้เข้าใจบริบทของงานแพทย์แผนไทยมากขึ้น