ประเด็นข้อพิพาทจากการบุกรุกที่ดิน 5,000 ไร่เศษ ในพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่เกี่ยวพันกับประชาชนผู้ครองครองที่ดินและตระกูลชิดชอบราว 900 ราย ยังเป็นปัญหาที่สะท้อนกระบวนยุติธรรมที่บิดเบี้ยวของประเทศไทยอย่างมาก
ร้ายกว่านั้น ประเด็นนี้กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่พูดคุยกันหนาหูมาก จากบรรดาเจ้าพนักงานที่ดิน ของกรมที่ดินย่านคลองหลอด และพนักงานในการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ย่านริมคลองหัวลำโพง...
“รฟท.ออกมายืนซดหมัดกับกรมที่ดิน แทนที่เอกชน นักการเมืองในการเรียกคืนที่ดินของตัวเองไปได้อย่างไรกันนะเนี่ย?”
“ผู้บริหารการรถไฟฯกำลังเล่นเกมยื้อเวลา ในการเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่รถไฟฯ5,000 ไร่ แทนที่นักการเมืองไปแล้ว”
“ตอนนี้ผู้ว่าการรถไฟฯกำลังสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือกลับไปหาอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อแจ้งให้เป็นผู้ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินการรถไฟอีกครั้งในเดือนนี้ หากกรมที่ดินไม่ใช้อำนาจตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินมาเพิกถอนการออกเอกสารสิทธิ์ จะฟ้องศาล...เพื่อขอให้ศาลฯสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนด” สายข่าวจากการถไฟฯ แจ้งมาเช่นนั้น
นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในการบุกรุกที่หลวง...แทนที่หน่วยงานของรัฐจะบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องทรัพย์สาธารณะ ไฉนกลายเป็นหน่วยงานของรัฐมาเปิดศึกฟัดกันเอง แทนที่เอกชนจะรวมพลังกัยจัดการกับผู้บุกรุกออกโฉนดทับที่หลวง
สาธารณะชนอาจฟังแล้วงง…ว่าเกิดอะไรขึ้นในคดีนี้
ผมเล่าให้ฟังแบบนี้ พื้นที่ดินของการรถไฟในบุรีรัมย์มีเอกชนบุกรุกอยู่ 900 ราย มีการต่อสู้คดีกันมาหลายปีดีดัก กระทั่งปี 2561-2562 ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา พิพากษาว่า เป็นการบุกรุกที่ดินการรถไฟ ใครจะออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของการรถไฟไม่ได้ ต้องเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ต่อมา
กรมที่ดิน แจ้งว่า ได้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ ส.ค.1 ของผู้ครอบครองแล้ว 30 ราย และอยู่ระหว่างเพิกถอน น.ส.3 ของผู้ครอบครองอีก 1 ราย
เหลือที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินอีกกว่า 700 แปลง ที่ยังไม่มีการเพิกถอนทั้งๆที่ศาลฎีกาตัดสินว่าออกเอกสารสิทิ์ไม่ได้ รวมถึงโฉนดที่ดิน 2 แปลง ได้แก่
1.โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ที่ออกเมื่อวันที่ 26 ต.ค.2515 เนื้อที่ 7 ไร่ 1 งาน 55.8 ตารางวา ของนายชัย ชิดชอบ ปัจจุบันอยู่ในการครอบครองของ บริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด
2.โฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ที่ออกเมื่อวันที่ 13 ส.ค.2518 เนื้อที่ 37 ไร่ 1 งาน 65 ตารางวา ของ นางกรุณา ชิดชอบ ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อเดือน ก.ย.2554 ให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ต่อมากรมที่ดิน แจ้งกลับไปยัง รฟท. ว่า ให้ รฟท. ฟ้องศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ตั้งแต่ปี 2555 เพียงแต่ว่า รฟท. ไม่กลับได้ดำเนินการใดๆมาจนถึงปัจจุบัน
เอ้าเพื่อให้เห็นว่า คดีนี้มีเรื่องพิศดารพันลึก เจ้าหน้าที่กรมที่ดินรายหนึ่งที่ทนไม่ไหวเอาเอกสารบันทึกนี้มาให้ผมดู เชิญทัศนารายละเอียด ตามหนังสือที่ มท 0516.2 (3)/27826 จากกรมที่ดิน ลงนามโดย วานิตย์ อินทรักษ์ รองอธิบดีกรมที่ดิน ทำหนังสือขอทราบความคืบหน้าการเพิกถอนโฉนดที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ลงวันที่ 2 ต.ค.2555 ล ถึง ผู้ว่าฯรฟท. แจ้งความคืบหน้าการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ดังนี้
กรมที่ดินขอเรียนว่า ในการดำเนินการเกี่ยวกับการฟ้องหรือร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและบราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่ง ป.ป.ช. ส่งให้กรมที่ดินดำเนินการ
บัดนี้กรมที่ดินได้พิจารณาดำเนินการตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว โดยมีความเห็นว่า “ไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับ”
ประกอบกับมีข้อขัดข้องเกี่ยวกับการฟ้องคดี เนื่องจากกรมที่ดิน มิใช่ผู้เสียหายในการที่จะฟ้องคดีต่อศาล จึงได้หารือแนวทางปฏิบัติต่อสำนักงานอัยการสูงสุดในประเด็นข้อขัดข้อง สำนักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า...
ในการดำเนินการฟ้องหรือร้องต่อศาล เพื่อมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้ยกเลิกเพิกถอนสิทธิหรือเอกสารสิทธิที่ได้อนุมัติหรืออนุณาติแก่บุคคลใดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้เสียหายหรือผู้ได้รับความเดือดร้อน จะต้องนำรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องต่อศาล ที่มีอำนาจ เพื่อมีคำสั่ง หรือคำพิพากษา เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 2 ฉบับดังกล่าวต่อไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ คือ การรถไฟฯ ที่เป็นเจ้าของที่ดินเป็นผู้มีอำนาจฟ้อง โดยไม่จำเป็นต้องนำรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเพิกถอนพิจารณาดำเนินการก่อน
และการที่อธิบดีกรมที่ดินเห็นควรไม่เพิกถอนโฉนดที่ดิน ย่อมไม่มีผลกระทบต่อการที่การรถไฟฯจะฟ้อง หรือร้องต่อศาล เพื่อขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่พิพาททั้ง 2 ฉบับ
...และไม่เป็นการโต้แย้งหรือขัดต่อหลักการตรวจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 เนื่องจากเหตุในการฟ้องร้องต่อศาลเป็นไปตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ส่วนการพิจารณาของอธิบดีกรมที่ดินเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งเป็นคนละสาเหตุไม่เกี่ยวข้องกัน ตามรายละเอียดสำเนาหนังสือสำนักงานอัยการสูงสุด ด่วนมาก ที่ อส 0005/5403 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2555
กรมที่ดินจึงขอส่งรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง พร้อมเอกสารประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรียนมาเพื่อโปรดทราบ และขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการฟ้องร้องกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาททั้ง 2 ฉบับตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 99....
นับตั้งแต่บัดนั้นจนบัดป่านนี้หนวยงานของกรัฐกลับมาฟาดฟันกันเอง แทนที่จะรวมพบังกันเรียกคือจากผู้บุกรุกดังนี้...
วันที่ 23 มิ.ย.2564 ผู้ว่าฯ รฟท. (นิรุฒ มณีพันธ์) ทำ หนังสือที่ รฟ1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิ.ย.2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดิน (นิสิต จันทร์สมวงศ์) โดยขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่
กรมที่ดิน มีหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0516.2/15527 ลงวันที่ 27 ก.ค.2564 ตอบกลับไปยัง รฟท. พร้อมออกเอกสารข่าวแจ้งต่อสื่อมวลชนในวันเดียวกัน (27 ก.ค.) มีเนื้อหาสรุปได้ 3 ประเด็น
ประเด็นแรก กรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 842-872/2560 และที่ 8027/2561 ว่า ที่ดินเนื้อที่ประมาณ 194 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ แต่มีราษฎรได้ยื่นขอออกโฉนดที่ดินตาม ส.ค.1 และมีหลักฐาน น.ส.3 นั้น กรมที่ดินได้แจ้งให้จังหวัดบุรีรัมย์พิจารณาดำเนินการเพิกถอน ส.ค.1 และ น.ส.3 แล้ว
ประเด็นที่สอง กรณีขอให้กรมที่ดินเพิกถอน ‘หนังสือแสดงสิทธิ’ ในที่ดินทุกแปลง ที่ออกในพื้นที่ของ รฟท. เนื้อที่ 5,083 ไร่ นั้น กรมที่ดินขอให้ รฟท.ส่งแผนที่แนบท้ายพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินฯ พ.ศ.2464 ให้กรมที่ดิน เพื่อให้จังหวัดบุรีรัมย์ตรวจสอบว่า มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงใดบ้างที่ออกไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และดำเนินการเพิกถอนต่อไป
ประเด็นที่สาม กรณีโฉนดที่ดินเลขที่ 3466, 8564 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ 44 ไร่ กรมที่ดินขอให้ รฟท.ฟ้องต่อศาลฯเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดทั้ง 2 แปลง ตามคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุด เนื่องจากกรมที่ดินไม่ใช่ผู้เสียหาย….แต่ร.ฟ.ท.ไม่เมิน...เพราะอะไร?
โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 อยู่ในการครอบครองของบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) จำกัด ของตระกูลชิดชอบ
โฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ที่อยู่ในการครอบครองของตระกูลชิดชอบ เป็นบ้านพักของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม
เหตุผลนะหรือขอรับ อ่านเอาจากหนังสือที่ รฟ 1/2291/2564 ผู้ว่าฯ รฟท. นิรุฒ มณีพันธ์ ทำไปชี้แจงกรมที่ดิน ลงวันที่ 20 ส.ค.2564 เรื่อง ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถึงอธิบดีกรมที่ดิน ความว่า “กรณีการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466,8564 นั้น รฟท.ยืนยันว่า กรมที่ดินต้องดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 เนื่องจากการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่บริเวณเขากระโดงดังกล่าว เป็นการออกเอกสารสิทธิ์ ที่เกิดจากความคลาดเคลื่อนของเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งย่อมต้องทราบถึงการมีอยู่ของที่ดินของ รฟท.
ส่วนที่ยกข้อหารือสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำวินิจฉัย ให้การรถไฟฯ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเป็นผู้มีอำนาจฟ้องดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ นั้น รฟท.ขอเรียนให้ทราบว่า ตามคำวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นกรณีที่กรมที่ดินได้มีหนังสือหารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่แจ้งให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ซึ่ง รฟท. ไม่ทราบว่ากรมที่ดินได้หารือประเด็นใด”
รฟท.เชื่อได้ว่า เป็นการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่บริเวณเขากระโดง โดย “ความคลาดเคลื่อน” เกิดจากเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดินตามกฎหมาย
เดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กรมที่ดินได้ส่งหนังสือฉบับที่ 2 ตอบกลับมายัง รฟท. ว่า ขอให้ รฟท.ฟ้องศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงเอง โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.
ดังนั้น ผู้ว่าฯรฟท.เตรียมทำหนังสือฉบับที่ 3 ส่งไปยังอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อขอให้กรมที่ดินใช้อำนาจตามมาตรา 61 เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 อีกครั้ง โดยจะให้เวลากรมที่ดินเป็นเวลา 15 วัน ในการเริ่มกระบวนการเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง แต่หากกรมที่ดินไม่ดำเนินการ
รฟท.จะฟ้องศาลฯ เพื่อขอให้ศาลฯสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนด
ผู้ว่าฯ รฟท. ได้ส่งหนังสือฉบับที่ 2 (หนังสือที่ รฟ 1/2291/2564 ลงวันที่ 20 ส.ค.2564) ไปยังอธิบดีกรมที่ดิน โดย รฟท.ยืนยันว่า ขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดิน 2 แปลง คือ โฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์
แต่ปรากฏว่าในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กรมที่ดินได้ส่งหนังสือฉบับที่ 2 ตอบกลับมายัง รฟท. ว่า ขอให้ รฟท.ฟ้องศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลงเอง โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท. พร้อมทั้งยืนยันว่า กรมที่ดินจะไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพิกถอนโฉนดที่ดินตามที่ รฟท.ร้องขอมา
ดังนั้น ผู้ว่าฯ รฟท.เตรียมทำหนังสือฉบับที่ 3 ส่งไปยังอธิบดีกรมที่ดิน เพื่อขอให้กรมที่ดินใช้อำนาจตามมาตรา 61 เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 อีกครั้ง โดยจะให้เวลากรมที่ดินเป็นเวลา 15 วัน หากกรมที่ดินไม่ดำเนินการ รฟท.จะฟ้องศาลฯเพื่อขอให้ศาลฯสั่งให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนด
เป็นอย่างไรละพี่น้องไทย ใครเส้นใหญ่ ใครเจ๋งกว่าใคร ระหว่างเอกชน นักการเมือง การรถไฟฯ และ กรมที่ดิน...