ผ่าทางตัน"โอนสนามบิน" นครอุดรฯขอท้องถิ่นดูแลเอง

10 พ.ย. 2564 | 08:22 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ย. 2564 | 15:42 น.

นายกฯนครอุดรธานีขวาง แผนคมนาคมโอนสนามบินอุดรฯให้ทอท. บอกของเดิมดูแลอยู่ก็ดีแล้ว พัฒนาจนเป็นแชมป์รายได้สนามบินในสังกัดทย. ห่วงโอนภารกิจไม่มีลงทุนเพิ่มเติม ปรับขึ้นค่าเช่าทำบริการในสนามบินแพง ชี้อยู่ในเขตเทศบาลขอรับมากำกับดูแลเองเหมือนญี่ปุ่น 

ดร.ธนดร  พุทธรักษ์  นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี  เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของกระทรวงคมนาคม กรณีจะโอนภารกิจสนามบินอุดรธานี ไปให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)(ทอท.) บริหารแทนกรมท่าอากาศยาน(ทย.) 

เนื่องจากที่่ผ่านมาทย.ดูแลและพัฒนาเพิ่มศักยภาพด้านต่าง ๆ ของสนามบินอุดรธานี และมีแผนโครงการที่จะลงทุนเพิ่มเติมในอนาคตไว้อย่างชัดเจนดีอยู่แล้ว  

ดร.ธนดร  พุทธรักษ์  นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี

ประการต่อมา บินอุดรธานีเป็นฮับของการบินของภูมิภาคอีสานตอนบน ที่มีผลประกอบการที่ดีที่สุดในภาคอีสาน และเป็นอันดับ 2 ของสนามบินที่สังกัด ทย.รองจากกระบี่ อนาคตสามารถยกระดับเป็นฮับของอนุภาคลุ่มน้ำโขงได้ จากความเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจ ที่เกิดจาดจากเปิดใช้โครงการรถไฟจีน-ลาว

ทั้งนี้ เทศบาลนครอุดรธานีมีจุดยืนไม่เห็นด้วย กับแนวทางการโอนภารกิจดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น หรือหากจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เข้าไปกำกับดูแลภารกิจสนามบินอุดรธานี

ท่าอากาศยานอุดรธานีที่นับถอยหลังโอนภารกิจให้ทอท.เข้ามาบริหารวันที่ 1 ม.ค.2565 นี้

ผ่าทางตัน\"โอนสนามบิน\" นครอุดรฯขอท้องถิ่นดูแลเอง

ในฐานะที่เป็นอปท.ก็พร้อม และเชื่อมั่นว่ามีศักยภาพพอที่จะที่จะดูแลกำกับภารกิจนี้ โดยจะศึกษาและยึดเอาแนวทางปฏิบัติของประเทศญี่ปุ่นมาใช้  เนื่องในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ก็ให้ท้องถิ่นกำกับสนามบินทุกแห่ง 

ดร.ธนดรกล่าวอีกว่า สนามบินอุดรธานีมีพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในเขตเทศบาลอุดรธานี  แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการพาณิชย์ ประกอบด้วยอาคารผู้โดยสาร ลานจอดเครื่องบิน ที่ทย.ใช้งบประมาณลงทุนพัฒนาไว้ สามารถรองรับการจอดเครื่องบินพร้อมกันได้หลายลำ  

ส่วนที่เป็นรันเวย์ความยาวกว่า 3 ก.ม. ทางวิ่งอยู่ในส่วนของกองบินที่ 23  เป็นสนามบินใหญ่สามารถรองรับเครื่องบินบิ้ง 747ได้ มีศักยภาพสูง เนื่องจากเคยเป็นฐานทัพของอเมริกามาก่อน  

สนามบินอุดรธานีมีการพัฒนาโดยต้นสังกัด คือ กรมท่าอากาศยาน(ทย.) กระทรวงคมนาคม มาโดยตลอด จนได้รับการยกระดับเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ และเคยมีสายการบินต่างประเทศเปิดทำการบินมาแล้ว แต่ยุติไปเนื่องจากเหตุผลทางธุรกิจในขณะนั้น

แต่จากที่สนามบินตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เป็นจุดศูนย์กลาง จึงมีการเติบโตต่อเนื่อง จากที่ทย.ได้ลงทุนพัฒนายกระดับสนามบินอุดรธานี ปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 3.5 ล้านคน/ปี แม้ผู้โดยสารลดลงบ้างช่วงโควิด-19 ระบาด แต่เมื่อคลายมาตรการให้เดินทางก็เริ่มดีขึ้น มีสายการบินกลับมาเปิดบินวันละกว่า 10 เที่ยว และอนาคตทย.มีแผนเพิ่มศักยภาพให้รองรับผู้โดยสารได้ถึง 7.2 ล้านคน/ปี  

ขณะที่เทศบาลนครอุดรธานี เป็นอปท.ขนาดใหญ่ มั่นใจว่าสามารถให้การกำกับดูแลบริหารงานในเชิงภาพรวม หรือเชิงนโยบายขององค์กรได้ เหมือบกับในประเทศญี่ปุ่น ที่ให้อปท.กำกับดูแลภารกิจของสนามบินทุกแห่ง สร้างรายได้ให้กับอปท.เพื่อใช้พัฒนาท้องถิ่นต่อไป

ส่วนการปฏิบัติภารกิจทางเทคนิคการบินและสนามบิน อาทิ การควบคุมการจราจรทางอากาศ ความปลอดภัยการบิน มีหน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรงดูแลอยู่แล้ว 

"ไม่เห็นด้วยที่จะโอนภารกิจสนามบินอุดรธานี ไปให้รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์มาบริหารแทน เพราะต้องทำกำไรตามเป้าหมายการอยู่ในตลาด และไม่เชื่อว่าทอท.จะทำตามแผนการพัฒนาสนามบินต่อ เพราะมีตัวอย่างหลายแห่ง เช่น สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ เมื่อโอนภารกิจให้ไปแล้วก็ไม่เห็นว่าได้รับการพัฒนา หรือมีการลงทุนใหม่ให้ทันสมัยอย่างที่กล่าวอ้าง แถมยังทำให้ค่าใช้จ่ายค่าบริการต่าง ๆ ในสนามนั้น ๆ ปรับเพิ่มราคาสูงขึ้น เพิ่มค่าเช่าขึ้น"

นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวอีกว่า เร็ว ๆ นี้จะเชิญทุกภาคส่วนของอุดรธานีมาหารือกันอีกครั้ง เพื่อจะร่วมกันแสดงจุดยืนคัดค้าน รักษาทรัพย์สมบัติของจังหวัดไว้เพื่อสร้างประโยชน์กับลูกหลานชาวอุดรธานี และยังรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุดรธานี เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอีสานตอนบน และอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ซึ่งรถไฟจีน-ลาว จะเริ่มเปิดให้บริการ 2 ธันวาคม 2564 ( ค.ศ. 2021)นี้  ที่จะเป็นการเปิดมิติใหม่ของการเดินทางขนส่งระบบรางของจีนและลาว และจะเป็นปัจจัยเสริมศักยภาพของอุดรธานี ให้เป็นฮับของเดินทางขนส่งทั้งทาบก ราง  อากาศของภูมิภาคนี้ในอนาคต