โวย"ชุบมือเปิบ"โอนสนามบินอุดรฯให้ทอท. 

28 ต.ค. 2564 | 22:17 น.

เห็นต่างโอนสนามบินอุดรฯให้ทอท. ประธานหอฯอุดรชี้ ใครก็ได้ที่มีศักยภาพ ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจี้ ต้องทำตามแผนพัฒนาที่วางไว้อย่างเคร่งครัด แต่ส่วนตัวค้านการรับโอนแต่สนามบินมีกำไร ซัดหนัก"ชุบมือเปิบ"  ผู้ค้ารายย่อยท้องถิ่นหวั่นถูกเบียดกระเด็น

นโยบายกระทรวงคมนาคมจะถ่ายโอนภารกิจสนามบิน 3 แห่ง ในสังกัดกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ไปให้บริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด(มหาชน) (ทอท.)บริหาร เริ่มจากสนามบินอุดรธานีและบุรีรัมย์ ในวันที่ 1 มกราคม 2565 ต่อด้วยกระบี่ในลำดับถัดไป จุดประเด็นความเห็นต่างในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเคยมีกระแสคัดค้านการโอนสนามบินให้ทอท.บริหารในอดีต ขึ้นมาอีกครั้ง

นายวันชัย  อนุตรชัชวาย์  ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี

นายวันชัย  อนุตรชัชวาย์  ประธานหอการค้าจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานีเป็นจังหวัดศูนย์กลางการค้า การลงทุน และคมนาคมขนส่ง ของอีสานตอนบน 5 จังหวัด  และยังเป็นเมืองไมซ์ซิตี้ สปอร์ตซิตี้ สมาร์ทซิตี้ มีเป้าหมายการพัฒนาชัดเจนสู่การเป็นศูนย์กลางอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เชื่อมโยงถึงจีนตอนใต้ จึงต้องเป็นฮับการคมนาคม รวมถึงการบินที่ต้องได้มาตรฐานระดับสากล

บรรยากาศร้านค้าย่อยในสนามบินอุดรฯปัจจุบัน ซึ่้งส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ค้าท้องถิ่น

"ฉะนั้นจึงมองว่าจะเป็นองค์กรอะไรก็แล้วแต่ ที่จะเข้ามาทำการพัฒนาสนามบินอุดรธานี ให้สามารถรองรับการเติบโตของอุดรธานีในอนาคต ให้เป็นศูนย์กลางการบินระดับสากลได้นั้น ล้วนเป็นเรื่องที่ดี  ไม่ได้เลือกว่าจะเป็นใคร แต่ขอให้มีศักยภาพ ความสามารถมากพอ ถ้าไม่ได้เป็นสนามบินระดับสากลจะไปรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างไร"

นายวันชัยกล่าวอีกว่า ใครก็ได้หากมีความมั่นใจ ก็ให้เขามีโอกาสเข้ามาทำ ส่วนเมื่อมีการพัฒนาสนามบินอุดรธานีให้มีศักยภาพมากขึ้น รองรับความเป็นอินเตอร์ฯมากขึ้น ต้องมีค่าใช้จ่ายมีการลงทุน เมื่อมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นก็ต้องยอมรับต้นทุนที่อาจสูงขึ้นถ้าผลที่ได้มากกว่าเสีย ต้องมองถึงอนาคตสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเมืองอุดรธานี ถ้าทำให้มีเศรษฐกิจดี การค้า การลทุน ความเป็นอยู่ที่ดีแล้ว ทุกอย่างก็จะตามมาเอง”นายวัยฯกล่าว 

โวย\"ชุบมือเปิบ\"โอนสนามบินอุดรฯให้ทอท. 

นายวีระพงศ์ เต็งรังสรรค์  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี

ด้านนายวีระพงศ์ เต็งรังสรรค์  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ในฐานะแกนนำองค์กรเอกชนจังหวัดอุดรธานี   หาก ทอท.จะรับโอนภารกิจสนามบินไปบริหาร ทอท.ต้องทำตามแผนการพัฒนา การลงทุน หรือการปรับปรุงการให้บริการต่าง ๆ  รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการใช้บริการที่มีอย่างจริงจังตามแผนที่วางไว้ ถ้ามาแล้วไม่ทำตามแผนไม่เกิดประโยชน์อะไร ก็คงไว้กับทย.จะดีกว่า 

แต่โดยส่วนตัวในฐานะคนอุดรธานี ไม่เห็นด้วย กับการถ่ายโอนภารกิจสนามบินอุดรธานี จาก ทย.ไปให้ ทอท.บริหารกิจการแทน เพราะไม่เชื่อว่า ทอท.จะทำตามแผนได้ตามอ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของการพัฒนายกระดับสนามบินอุดรธานีให้เป็นสากล เช่น การดึงเอาสายการบินระหว่างประเทศมาลงสนามบินอุดรธานีได้ ในฐานะของประชาชน ต้องการเห็นความจริงจังให้ ทอท.ต้องดำเนินการตามแผนต่าง ๆ ที่อ้างไว้

โวย\"ชุบมือเปิบ\"โอนสนามบินอุดรฯให้ทอท. 

นายวีระพงศ์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทย.ได้พัฒนาสนามบินอุดรธานีให้เหมาะสมกับการเติบโตของเมืองอุดรธานี  ล่าสุดเพิ่งลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในสนามบิน ให้รองรับผู้โดยสารได้ปีละ 3 ล้านคนเศษ และมีแผนเพิ่มศักยภาพที่ชัดเจน ให้สามารถรองรับผู้โดยสารในอนาคตได้ถึง 7.2 ล้านคน ในระยะอันใกล้นี้ มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นถึงวันละ 50 เที่ยวบิน มากที่สุดในภาคอีสาน มีผู้โดยสารใช้บริการในปี 2563 จำนวน 2 ล้านคนเศษ เป็นสนามบินในสังกัด ทย.ปัจจุบัน ที่สามารถสร้างรายได้เป็นที่หนึ่งของภาคอีสาน และเป็นที่สองรองจากสนามบินกระบี่ 

นอกจากนี้ก็มีแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 เพื่อรองรับความเติบโตของสนามบินและเมืองอุดรธานีเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นการยกระดับสู่ความเป็นสากล พร้อมรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่จะมาใช้บริการเพิ่ม รวมถึงเสริมการเปิดเดินรถไฟจีน-ลาวปลายปีนี้ ที่จะยิ่งเสริมให้สนามบินอุดรธานีสำคัญโดดเด่นเพิ่มมากขึ้นอยู่แล้ว

"การจะโอนสนามบินอุดรฯให้ทอท. เหมือนกับยกเอาของดี มีประโยชน์อยู่แล้ว ไปให้คนอื่นใช้ประโยชน์ต่อเท่านั้นเอง เป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับอุดรธานีและทย. โดยไม่รู้ว่าในอนาคตทอท.หรือรัฐจะเปลี่ยนนโยบายอะไรเกี่ยวกับสนามบินอุดรฯอีก"

นายวีระพงศ์ระบุด้วยว่า จากที่เคยเดินทางใช้บริการสนามบินต่าง ๆ ที่ทอท.บริหาร เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ก็ไม่เห็นมีการพัฒนาที่แปลกใหม่เพิ่มเติม ยังใช้งานอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ทย.ลงทุนไว้เหมือนเดิม รวมทั้งทอท.จะเลือกเฉพาะสนามบินที่มีศักยภาพ มีผลประกอบการดีมีกำไรอยู่แล้วเท่านั้นมาบริหาร  น่าจะเอาสนามบินต่าง ๆ ในสังกัดทย.ที่ผลประกอบการไม่ดี ไม่มีผลกำไรที่เลี้ยงตัวเองได้ เอาไปบริหารด้วย เพื่อไม่ให้เป็นภาระในการที่ทย.ต้องจัดสรรงบประมาณไปอุดหนุน ซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชนทั้งนั้น ดังนั้น อย่าทำเหมือนกับเป็นการชุบมือเปิบ

ขณะที่ผู้ค้าที่เช่าพื้นที่ในสนามบินอุดรฯรายหนึ่ง กล่าวว่า ทุกวันนี้ยอดขายลดจากผลกระทบเชื้อโควิด-19 สนามบินก็ปิดมาหลายระลอก ยังไม่รู้จะมีรอบใหม่อีกหรือไม่ ก็มาทราบข่าวว่าจะโอนสนามบินอุดรฯไปให้ทอท.บริหารเร็ว ๆ นี้  ซึ่งไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าเมื่อเปลี่ยนผู้บริหาร ปล่อยให้เอกชนเข้ามาบริหารค่าเช่าพื้นที่จากที่จ่ายในปัจจุบัน จะทำให้มีค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับความกระทบกระเทือนมากอยู่แล้ว เพราะสนามบินปิดมาเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว  ไม่มีรายได้อะไรเลย เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิค-19  

ต้นทุนที่สูงขึ้นนี้จะกระทบไปถึงคนเดินทาง ที่ต้องการซื้อสินค้าของฝากจากอุดรธานี ไปฝากญาติพี่น้องที่ปลายทางไปด้วย ถ้าสินค้าราคาสูงขึ้น การซื้อ-ขายน้อยลง รายได้ก็จะลดลงไปด้วย  พร้อมกับกล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อถึงเวลาดังกล่าว หากไม่สามารถสู้กับค่าใช้จ่าย ราคาค่าเช่าพื้นที่ได้ ก็คงต้องหยุดเลิกกิจการ 

จึงยังเป็นปมคาใจ เหตุไฉนทอท.เลือกแต่สนามบินที่ผลประกอบการดีมีกำไรไปบริหารต่อ ทิ้งสนามบินขนาดเล็ก รายได้น้อยให้ทย.ต้องตั้งงบประมาณดูแลกันต่อไป และเมื่อทอท.เข้ามา ก็จะบริหารสนามบินในรูปแบบธุรกิจ พร้อมดึงเอกชนรายใหญ่ระดับโลกที่เป็นคู่ค้า เข้ามาให้บริการเป็นหลัก เบียดผู้ค้ารายเล็กรายน้อยที่เป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นพ้นสนามบินในที่สุด