จวกยับ สหภาพรถไฟฯ ค้านรฟท. ปมปิดสถานีหัวลำโพง

18 พ.ย. 2564 | 05:05 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2564 | 12:12 น.

สหภาพรฟท.ค้านหนัก หลังคมนาคมสั่งรฟท.ปิดสถานีหัวลำโพง กระทบประชาชนเดินทาง ซัดแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ส่อผิดกฎหมาย หวั่นเอื้อนายทุนรายใหญ่

รายงานข่าวจากสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.) เปิดเผยถึงกรณีนาย ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังจากเป็นประธานการประชุมติดตามนโยบายแนวทางการ พัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) และแนวทางการพัฒนาตลอดแนวเส้นทางรถไฟบางซื่อ - หัวลำโพง ด้วยApolication "Z00m" เมื่อวันที่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมาว่าหลังจากที่ได้มีการเปิดใช้งานสถานีกลางบางชื่อเต็มระบบเพื่อเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางของประเทศไทยโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้การรถไฟฯเร่งพิจารณาแนวทาง การหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงโดยเร็ว เพื่อให้มีความชัดเจนในการเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพงนั้น สหภาพรถไฟฯขอคัดค้านนโยบายการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) และหยุดขบวนการทำลายประวัติศาสตร์ของการรถไฟฯ"

 

 

ทั้งนี้การปิดสถานีหัวลำโพง ทางสหภาพรฟท.ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย และขอคัดค้านด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1. ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการในการมาทำงานไป-กลับ จำนวนมากได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากจะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนภาพรวมในวงกว้าง จากการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการเดินทาง เนื่องจากภารกิจหลักของรฟท.คือการให้บริการระบบขนส่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนจำนวนมากจากทั่วทุกส่วนภูมิภาคเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร และจากใจกลางตัวเมืองกลับไปสู่ทั่วทุกภูมิภาค ด้วยความสะดวก ปลอดภัย เพราะเป็นจุดเริ่มต้น - และปลายทาง ของขบวนรถฟชานเมืองในเส้นทางต่างๆที่มีประชาชน หลากหลาย อาชีพ นักเรียน นิสิต นักศึกษาจำนวนมากใช้บริการเดินทางเข้ามา ทำงานและเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจแตกต่างกันไป นอกจากนั้นยังเป็นสถานีเชื่อมต่อการเดินทางรถไฟในเส้นทางสายตะวันออก ใช้ในการเดินขบวนรถพิเศษเนื่องในโอกาสต่างๆ ที่สำคัญของประเทศและของการรถไฟฯ และเป็นพื้นที่อันควรค่ายิ่งแก่การอนุรักษ์ใช้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นว่าจำเป็นต้องปิดสถานีและหยุดให้บริการรถฟเข้าสถานีหัวลำโพงจริงๆควรสอบถามความเห็นของประชาชนผู้ใช้บริการก่อนจะดีกว่าหรือไม่

2.จากข้อมูลเหตุผลที่อ้างถึงว่าในการปิดสถานีและไม่ให้มีขบวนรถเข้ามาในสถานีรถไฟหัว ลำโพง นั้นเพื่อแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ กทม. เนื่องจากขบวนรถไฟเป็นปัญหาที่ทำให้รถติด ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้ประชาชนที่เดินทางจำนวนมากจากทั่วประเทศได้รับ ความสะดวกในการเดินทางเข้ามาในตัวเมืองชั้นใน แล้วทางรถไฟก็มีมาก่อนถนนใน กทม.เกือบทั้งหมด แล้วทำไมตอนสร้างถนนข้ามตัดผ่านทางรถไฟ ผู้เกี่ยวข้องไม่หาวิธีแก้ปัญหาจุดที่ถนนตัดผ่านกับทางรถไฟและขอตั้งคำถามไปที่รัฐมนตรีฯว่าหากไม่มีขบวนรถฟเข้ามาแล้ว บนท้องถนนใน กทม.การจราจรจะไม่ ติดขัดใช่หรือไม่ ถ้ายังมีปัญหาการจราจรอยู่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความผิดพลาดในเรื่องนี้

 

 

 

 

 3.พื้นที่ในบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นที่ดินที่เกี่ยวข้องที่ใช้สำหรับการเดินรถมีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟการนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อาจเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดกับวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494มาตรา 6 หากรัฐมนตรีมีความต้องการที่จะหาประโยชน์จากการพัฒนาที่ดิน เพื่อมาชดเชยผลการดำเนินงานที่ขาดทุนของการรถไฟฯโดยจำเป็นต้องพัฒนาที่ดินบริเวณดังกล่าวแล้ว ในแนวทางไม่จำเป็นต้องปิดสถานีหัวลำโพง และหยุดให้บริการเดินรถฟแต่อย่างใด เพราะการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์กับการขนส่งสาธารณะทางรถไฟสามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ อีกทั้งยังมีพื้นที่ มีทีดินว่างเปล่าของการรถไฟฯอีกมากมายหลายแปลงที่จะหาประโยชน์ หารายได้ให้แก่การรถไฟฯได้ทั้งในกรุงเทพ และ ต่างจังหวัด คำถามคือ ทำไมไม่ทำ มีผู้มีอิทธิพลมากบารมี กี่รายที่หาประโยชน์เข้ากระเป๋าพวกพ้องของตนเอง และเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว อาจทำให้มีการทุจริตคอรัปชั่นตามมาได้

"หรือว่าการปิดสถานีรถไฟหัวลำโพง จะเป็นขบวนการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การด้อยค่าความสำคัญโดยทำให้ภาพของการเป็นกิจการ แห่งรถไฟสยามเลือนหายไป หากไม่มีขบวนรถไฟเข้ามาแล้วจะเรียกว่าเป็นสถานีรถไฟได้อย่างไรกัน คงจะเหลือเพียงความเป็นหน่วยงานที่มีแต่หนี้สิน โดยที่ไม่กล่าวถึงเหตุผลที่มาของหนี้สินเหล่านั้น ว่ามาได้อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบพร้อมกับการยกเหตุผลข้ออ้างลอยๆขึ้นมาประกอบในการ จะเอาที่ดินใจกลางเมืองจำนวน 120 ไร่ ที่ทรงมีพระบรมราชโองการพระราชทานไว้เพื่อใช้ในกิจการ ดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของการรถไฟฯ ไปยกให้นายทุนเอกชนเช่าเพื่อหาประโยชน์ในเชิง พาณิชย์ โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ความเจริญและความอยู่ดีกินดี ของคนในชาติมามากกว่า 120 ปีซึ่งประเมินค่ามิได้ คนที่คิดทำลาย คิดดีแล้วหรือมันสมควรแล้วหรือ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟๆ ขอคัดค้านไม่เห็นด้วยกับนโยบายการหยุดให้บริการรถไฟ เข้าสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) และการปิดสถานีหำลำโพงขอแจ้งให้พี่น้องสมาชิก สร.รฟท. คนรถไฟทุกท่าน รวมทั้งพี่น้อง ประชาชนผู้ที่รักความเป็นธรรม ในสังคมได้รับทราบ และได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นร่วมกันออกมา คัดค้านนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ให้การรถไฟฯหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานี กรุงเทพ (หัวลำโพง) ซึ่งเป็นขบวนการทำลายประวัติศาสตร์ของการรถไฟ ฯ เพื่อสืบทอด เจตนารมณ์พระราชปณิธาน ของสมเด็จพระปียมหาราชที่มีมาอย่างยาวนาน และทรงพระราชทาน กิจการรถไฟไว้เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน ด้วยจิตคาราวะ"

 

 

 

 อย่างไรก็ตามสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543โดยมีวัตถุประสงค์เป็นไปตามมาตรา 40 (4) "เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของ การรถไฟฯ" จากนโยบายการปิดสถานีหัวลำโพงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในเรื่องนี้