รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความในสื่อโซเชียลต่างๆ ถึงรฟท.จะทำการทุบสถานีหัวลำโพง แล้วสร้างเป็นตึกสูงแทนนั้น ทางรฟท.และ กระทรวงคมนาคม ได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว พบว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากกระทรวงฯ ได้มีนโยบายให้รถไฟทุกขบวน โดยเฉพาะรถไฟทางไกล ปรับสถานีปลายทางจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนน
ขณะเดียวกันรฟท. ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพและสถานีกลางบางซื่อ เพื่อยกระดับสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ และศูนย์กลางระบบขนส่งแห่งใหม่ของประเทศไทย โดยมุ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เต็มศักยภาพ สามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในยุคใหม่ในทุกมิติ
ทั้งด้านการเดินทางขนส่ง การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดภายในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยกำหนดกรอบเวลาการดำเนินงานให้ชัดเจน และหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันจัดทำ แผนรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับรู้ก่อนล่วงหน้า
"รฟท.ยืนยันไม่ได้จะทุบสถานีหัวลำโพงทิ้ง แล้วสร้างเป็นตึกสูงแทนแต่อย่างใด แต่จะย้ายให้รถไฟทุกขบวนปรับเส้นทางให้สิ้นสุดจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) เป็นสถานีปลายทางที่สถานีกลางบางซื่อ ตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. 2564 ส่วนสถานีหัวลำโพง จะพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง และเพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์
โดยการพัฒนายังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิมให้สอดคล้องกับความสมัยใหม่และปรับเข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ดังนั้น จะยังคงอนุรักษ์อาคารหัวลำโพงและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้อย่างครบถ้วน"
ส่วนแนวทางการพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยหลังจาก รฟท. ย้ายการเดินรถไฟไปที่สถานีกลางบางซื่อทั้งหมดแล้ว จะเริ่มพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีหัวลำโพง ซึ่งจะเน้นการเป็นพื้นที่สาธารณะให้กับคนเมือง และเพิ่มศักยภาพเชิงพาณิชย์ โดยการพัฒนายังคงความเป็นอัตลักษณ์เดิมให้สอดคล้องกับความสมัยใหม่และปรับเข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิต
ทั้งนี้ในปัจจุบันยังคงอนุรักษ์อาคารหัวลำโพงและจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ในบริเวณนี้อย่างครบถ้วน สำหรับแนวทางการพัฒนา จะให้เป็นศูนย์คมนาคมกลางเมือง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย จากสถานีกลางบางซื่อมาสถานีกรุงเทพ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถท่องเที่ยวรอบเมือง และเรือท่องเที่ยว
พื้นที่บางส่วนซึ่งปัจจุบันคือโรงซ่อมรถไฟ และพวงราง จะพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้ทันสมัย เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย แหล่งศูนย์รวมร้านค้าและอาหารที่มีชื่อรอบเกาะรัตนโกสินทร์ตั้งแต่อดีต ผสมผสานกับร้านค้าสินค้า แบรนด์เนมระดับโลก ที่ถูกจัดสรรให้อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
อย่างไรก็ตามรฟท.ยังจัดสรรพื้นที่กิจกรรมสำหรับทุกเพศทุกวัย และเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยรอบ รวมถึงศูนย์ประชุมนานาชาติ และที่สำคัญคือ ยังคงอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้ได้แก่ อาคารสถานีหัวลำโพง ชานชาลา อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จะเชื่อมประวัติศาตร์ให้เข้ากับรูปแบบการดำเนินชีวิตจากอดีตสู่สังคมในอนาคต เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกันระหว่างการอนุรักษ์มรดกอันมีค่าทางประวัติศาสตร์ กับการสร้างรายได้เพิ่มให้กับการรถไฟฯ และประเทศ