นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี) เปิดเผยว่า บีไอจีพร้อมเดินหน้าผลิตก๊าซอุตสาหกรรม อาทิ ออกซิเจน ไนโตรเจน และอาร์กอนป้อนภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาบีไอจีเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงแยกอากาศแห่งใหม่ที่ร่วมทุนต่อยอดนวัตกรรมร่วมกันระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบีไอจี ในนาม บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด : เอ็มเอพี (Map Ta Phut Air Products Co., Ltd. : MAP)
โดยมีกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมถึงกว่า 450,000 ตันต่อปี ทำให้บีไอจีมีกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมรวมถึงกว่า 2,500,000 ตันต่อปี ซึ่งคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีแนวโน้มเติบโตหลังเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิดในปีที่ผ่านมา และสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมผลิตอาหาร รวมถึงออกซิเจนเพื่อการแพทย์
นอกจากนี้ โรงแยกอากาศเอ็มเอพี (MAP) ยังมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Emissions) สู่ชั้นบรรยากาศเนื่องจากเป็นการนำเทคโนโลยีการแยกอากาศโดยอาศัยพลังงานความเย็นที่ได้จากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ลดการพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการแยกอากาศ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมตอบโจทย์นโยบายเกี่ยวกับ Climage Change ของภาครัฐ โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 28,000 ตันต่อปี และลดการปล่อยน้ำเย็นลงสู่ทะเล 2,500 ตันต่อชั่วโมง
อย่างไรก็ดี บีไอจียังมีแผนที่จะดำเนินการนำนวัตกรรมอันไร้ขีดจำกัดต่าง ๆ ของบีไอจีผลักดันอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions อาทิเช่น
การนำนวัตกรรมจากออกซิเจนมาใช้ในอุตสาหกรรมแก้วและกระจก เพื่อทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการเผาไหม้ อีกทั้งช่วยให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความสมบูรณ์ เพิ่มผลผลิต ประหยัดพลังงาน และลดการใช้เชื้อเพลิง
การนำนวัตกรรมจากไนโตรเจนในอุตสาหกรรมการถนอมอาหารทดแทนการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
การนำนวัตกรรมจากไฮโดรเจนมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษเพราะสิ่งที่เหลือจากการใช้งานคือ น้ำ ซึ่งจะช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ
การติดตั้งเทคโนโลยีระบบผลิตก๊าซ ณ โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซเหลวที่ต้องขนส่งทางรถบรรทุก ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากภาคขนส่ง
สำหรับความต้องการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมในปี 2565 คาดว่าจะโตเพิ่มขึ้น 5-6% เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มียอดขาย 4,200 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 11% จากยอดขายที่ลดลงของปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 เป็นการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิต ภาคสาธารณสุข
ขณะที่ภาพรวมของปี 2564 ความต้องการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดโควิดเริ่มคลี่คลายในทิศทางทีดีขึ้น ดังนั้นภาคการผลิตจะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะต่อเนื่องไปถึงปี 2566
ดังนั้นการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมเพื่อป้อนกำลังการผลิตใน 2 อุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะอิเลคทรอนิกส์ และยานยนต์จะมีสูงขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้ด้วยเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงของประชาคมโลก ว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ จะเป็นการเร่งผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมมีความระมัดระวังในการผลิตมากขึ้น
ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในภาคการผลิต สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเทคโนโลยีของบีไอจีซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพูดคุยและวางแนวทางในการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ภาคการผลิตในหลายรายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นแพลต์ฟอร์มด้านนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตที่มีการผสมผสานเทคโนโลยีโดยการนำ Internet of Things (IoT)
และนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมที่บีไอจีนำมาจากบริษัท แอร์โปรดักส์ แอนด์ เคมิคอลส์ จำกัด ประเทศสหรัฐฯ (บริษัทแม่ของบีไอจี) ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าในอนาคตประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอาจมีการนำมาตรการทางภาษีมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
บีไอจีจึงเร่งผลักดันและร่วมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้มุ่งสู่สังคมโลว์คาร์บอน พร้อมกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากนวัตกรรมจากก๊าซอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว บีไอจียังนำผลลัพธ์ที่ได้จากการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ขององค์กร โดยการใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 เช่น IoT/AI และ Big Data มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจอย่างแม่นยำในการเพิ่มผลผลิตและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าและความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอีกด้วย