เป็นกระแสพูดถึงอย่างมากในสัปดาห์นี้ สำหรับการประกาศของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) โดยการสนับสนุนให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค ในระหว่างการศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้
โดยการประกาศจะควบรวมกิจการของ 2 บริษัท นั้น สังคมก็เกิดความกังวลว่าจะเข้าข่ายการมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ และจะส่งผลกระทบต่อผู้บรโภคในอนาคตหรือไมนั้น นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เรื่องนี้ต้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ตีความว่าจะควบรวมกิจการได้หรือไม่ ซึ่งไม่ได้อยู่ในอำนาจของกขค. เพราะเรื่องนี้อยู่ภายใต้กฎหมายของกสทช.
“ การควบรวมของ 2 บริษัทจะมีผลต่อการแข่งขันยังไง ต้องให้ทางกสทช.เป็นผู้ตีความเพราะมีเรื่องของไอทีเรื่องของเทคโนโลยีที่กสทช.ดูอยู่ ซึ่งในส่วนของกขค.เองจะไปพูดก่อนคงไม่ได้ ส่วนจะเป็นการมีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่นั้น รอความเห็นจากกสทช.เป็นผู้ตีความดีกว่า แต่กขค.ก็เตรียมข้อมูลไว้ เพราะที่สุดแล้วการควบรวมมีผลอย่างไรกับผู้บริโภค รูปแบบการบริการเป็นอย่างไรยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัด ซึ่งเป็นเพื่อข้อเสนอมาเท่านั้น ดังนั้นตอนนี้ยังบอกอะไรไม่ได้ แม้ว่ากขค.จะมีกฎหมายเรื่องการควบรวมแต่กสทช.ก็มีกฎหมายเรื่องกำกับดูแลควบรวมด้วยเช่นกันต้องรอกสทช.ตีความก่อน ”