ย้อนไทม์ไลน์การเจรจา “ดีแทค-ทรู” จับมือดีลควบกิจการ-ปั้นบริษัทเทคโนโลยี

22 พ.ย. 2564 | 06:01 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2564 | 13:19 น.

กระแสข่าวที่ว่า "ทรู คอร์ปอเรชั่นฯ" จะเข้าไปซื้อหุ้นใน "ดีแทค" มีมาอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการปฏิเสธข่าวของทั้งสองฝ่าย แต่สุดท้ายข่าวลือก็กลายเป็นเรื่องจริง เราลองมาไล่เลียงดูไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญที่นำมาสู่ดีลใหญ่ในครั้งนี้

ก่อนที่ข่าวลือการจับมือควบบริษัทระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จะได้รับการยืนยันว่า เป็นความจริง และทั้งสองฝ่ายออกมาแถลงในวันนี้ (22 พ.ย.) ชี้แจงถึงการจัดทำบันทึกความตกลง ตลอดจนขั้นตอน-แผนรวมกิจการจัดตั้งบริษัทใหม่เป็น Technology Company ที่มองไกลในการบุกตลาดระดับภูมิภาคร่วมกันนั้น

ย้อนไทม์ไลน์การเจรจา “ดีแทค-ทรู” จับมือดีลควบกิจการ-ปั้นบริษัทเทคโนโลยี

เรามาไล่เลียงลำดับ ไทม์ไลน์เหตุการณ์สำคัญ ระหว่างทาง ที่นำมาสู่ดีลใหญ่ดังกล่าว ได้ดังนี้  

 

  • 8 ก.ค.64 เทเลนอร์ ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจากนอร์เวย์ ซึ่งถือหุ้นใหญ่ในดีแทค และอีกหลายบริษัทในเอเชีย บรรลุข้อตกลงขายหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่ในบริษัทโทรคมนาคมในเมียนมาให้กับกลุ่ม M1 เป็นมูลค่า 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,450 ล้านบาท และก่อนหน้านั้น เทเลนอร์ก็เพิ่งบรรลุข้อตกลงควบรวมกิจการกับบริษัทโทรคมนาคมในมาเลเซีย  

 

  • 29 ก.ค. 64 สื่อต่างประเทศเริ่มรายงานข่าวว่า ดีแทค ซึ่งถือหุ้นใหญ่ 45.87% โดย บริษัท เทเลนอร์ เอเชีย (Telenor Asia Pte. Ltd.) กำลังถอนการลงทุนในประเทศไทยเช่นกัน หลังจากที่บริษัทเพิ่งประกาศขายธุรกิจโทรคมนาคมในเมียนมาให้กับกับกลุ่ม M1

 

ข่าวในช่วงนั้นระบุว่า เทเลนอร์กำลังจะขายหุ้นดีแทคทั้งหมด 1,086,052,874 หุ้น หรือคิดเป็น 45.87% โดยกำลังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับผู้ที่สนใจ

 

อย่างไรก็ตาม นายเกลนน์ แมนเดลิด ผู้อำนวยการสายงานสื่อสารองค์กรของ เทเลนอร์ เอเชีย กล่าวกับรอยเตอร์ผ่านทางอีเมล์ ตอบคำถามที่ว่าบริษัทกำลังจะขายหุ้นในดีแทคจริงหรือไม่ โดยเขาระบุว่า บริษัทไม่ขอออกความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับข่าวลือ กล่าวได้เพียงว่า เทเลนอร์ยังคงมุ่งมั่นในการทำธุรกิจในประเทศไทยและกลยุทธ์ในภูมิภาคเอเชีย

  • 21 ต.ค.64 นายซิกเว เบรกเก ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ผ่านเว็บ (webinar) หัวข้อ "Preparing for the next pandemic" ว่า ประเทศไทยมีความสำคัญอย่างมากต่อเทเลนอร์ กรุ๊ป บริษัทมีพันธกิจระยะยาวในประเทศไทยและสังคมไทย เนื่องจากอยู่ในไทยมา 20 ปีแล้วและยังหวังมองเห็นอนาคต 20 ปีข้างหน้าในประเทศไทย ทั้งนี้ บริษัทหวังเพิ่มบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียคาดว่า 5 ปีข้างหน้า จะมีจำนวนผู้ใช้โมบายอินเทอร์เน็ต (อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์มือถือ) เพิ่มขึ้นใหม่อีก 700 ล้านคน   

 

  • 19 พ.ย. 2564 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงการให้ข่าวของฝ่ายเทเลนอร์ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ว่า เทเลนอร์จากประเทศนอร์เวย์ และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี กรุ๊ป) กำลังเจรจาเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ทั้งสองฝ่ายจะควบรวมกิจการโทรคมนาคมของทั้งสองฝ่ายในไทยเข้าด้วยกัน แต่ทั้งสองฝ่ายยังมีประเด็นที่ต้องหารือกันต่อ และยังไม่สามารถระบุ ณ เวลานี้ว่า สุดท้ายแล้วจะมีการบรรลุข้อตกลงกันหรือไม่ ในขั้นนี้ เทเลนอร์ยังไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ เพิ่มเติม

 

รอยเตอร์รายงานเพิ่มเติมอีกว่า ดีลนี้จะเป็นการควบรวมกิจการหลายพันล้านดอลลาร์รายการที่สองของเทเลนอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปีนี้

ในวันเดียวกัน นางสาวยุภา วงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หากมีข้อชี้แจงใด ๆ เกี่ยวกับข่าวที่ปรากฎในสื่อซึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทจะแจ้งข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป

 

เช่นเดียวกับฝ่ายดีแทค นางสาวณภัทร ธัญญกูลสัจจา Head of Company Secretary Department บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จากัด (มหาชน)ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า เนื่องจากมีการคาดการณ์ในสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับบริษัทฯ และบริษัท ทรูฯ จึงขอแจ้งให้ทราบว่า ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะได้รับการชี้แจงจากบริษัทฯ ตามที่กำหนดตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์

 

  • 20 พ.ย. 64 ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) มีมติอนุมัติให้บริษัทศึกษาความเป็นไปได้ และดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทระหว่างกัน โดยให้แต่ละบริษัทเข้าทำบันทึกความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (Non -Binding Memorandum of Understanding) เพื่อบันทึกความประสงค์ของคู่สัญญาในการพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจระหว่างกันด้วยวิธีการควบบริษัท(Amalgamation) รวมถึงกำหนดเงื่อนไขบังคับก่อนของการควบบริษัท

 

  • 22 พ.ย. 64 บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการควบบริษัทระหว่างกัน และรับทราบความประสงค์ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของบริษัทฯโดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทำคำเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer)

 

บ่ายวันเดียวกันเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) ผู้ถือหุ้นใหญ่ในทรูฯ และกลุ่มเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในดีแทค จัดแถลงข่าว "เครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ พิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร สู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ"