นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้เหลือเพียงสัดส่วนผสมเดียว คือ ร้อยละ 7 หรือ บี7 (B7)
จากเดิมมีการผสมอยู่ 3 สัดส่วน คือ ร้อยละ 7 หรือ บี7 (B7) ,ร้อยละ 10 หรือบี10 (B10) และร้อยละ 20 หรือ บี20 (B20) ในเดือนธันวาคม 2564 – เดือนมีนาคม 2565
นอกจากนี้ จะขอให้ผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร โดยกรมธุรกิจพลังงานออกประกาศ เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. …. ใหม่ ที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลร้อยละ 7 และให้กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ให้สอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบฯ
ทั้งนี้ ยังคอยดูแลราคาขายปลีกกลุ่มน้ำมันดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยในระหว่างนี้จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพประชาชนในระยะต่อไป
นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่มีการปรับขึ้นราคา สาเหตุมาจากความต้องการใช้พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด 19 รวมถึงค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง
โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อเดือน ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ทั้งยังร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ผู้ประกอบการในการดูแลค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง การดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน
และให้คงราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งแม้ว่ากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแล้วแต่การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลในประเทศบางประเภทสูงขึ้นจนส่งผลกระทบกับการดำรงชีพของประชาชน
"จากการดำเนินการปรับลดส่วนผสมน้ำมันดีเซลเหลือ B7 เพียงชนิดเดียว คาดว่าจะทำให้น้ำมันดีเซลราคาไม่เกิน 28 บาทต่อลิตร โดยจะเริ่มเห็นได้วันที่ 1 ธันวาคม 64 เป็นต้่นไป อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือยังคงมาตรการไว้ที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่พยายามทำราคาให้ต่ำกว่า"
นายวัฒนพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 2,956 ล้านบาท แบ่งเป็น น้ำมัน 23,356 ล้านบาท ขณะที่ LPG ติดลบ 20,400 ล้านบาท โดยจากการดำเนินมาตรการปรับเกรดลดเหลือ B7 ชนิดเดียว จะทำให้กองทุนฯใช้เงินรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศลดเหลือ 3,886 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมที่ใช้ประมาณ 4,000 ล้านบาท ช่วยทำให้ลดภาระต่อเดือนลงได้ 106 ล้านบาทต่อเดือน