WHAUP มั่นใจโค้งสุดท้าย ผลงานโดดเด่น ธุรกิจในไทย-เวียดนามโต

24 พ.ย. 2564 | 11:58 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2564 | 19:08 น.

ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) มั่นใจโค้งสุดท้ายธุรกิจเติบโตแข็งแกร่ง ได้แรงหนุนจากธุรกิจสาธารณูปโภค-ไฟฟ้า ทั้งในประเทศ และ เวียดนาม ขยายตัวอย่างโดดเด่น เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม มั่นใจโซลาร์รูปท็อป ทะลุเป้า 90 MW

 

ดร.นิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (บมจ.) (WHAUP) เผยถึงภาพรวมธุรกิจของบริษัทในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานมีการเติบโตที่ดีขึ้น จากการขยายตัวของการให้บริการด้านสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของกลุ่มดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย ทั้ง 11 แห่ง และเวียดนาม 1 แห่

 

ประกอบด้วย 2  ธุรกิจ  คือ ธุรกิจสาธารณูปโภค (น้ำ) ภาพรวมธุรกิจสาธารณูปโภคทั้งในประเทศ และในเวียดนาม มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิมที่มีการขยายกำลังการผลิต และลูกค้ารายใหม่จากกลุ่มโรงไฟฟ้าและปิโตรเคมี รวมถึงการกลับมาดำเนินงานตามปกติของกลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมฯ  

 

ทั้งนี้บริษัทมุ่งเน้นการให้ผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม จากการนำน้ำเสียที่ได้จากกระบวนการบำบัดและใช้ใหม่ ไปผลิตและเพิ่มมูลค่าเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาหลากหลายโครงการ อาทิ โรงบำบัดน้ำแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 (WHA RY36) กำลังการผลิต 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โครงการผลิตน้ำที่ปราศจากแร่ธาตุสำหรับจำหน่ายแก่ลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทฯ ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และโครงการแหล่งน้ำดิบทางเลือก กำลังการผลิต 6 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

 

ส่วนการให้บริการด้านสาธารณูปโภคในเวียดนาม ยังคงมียอดการจำหน่ายน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากโครงการดวง ริเวอร์ เซอร์เฟส วอเตอร์แพลนท์ และบริษัท เก๋อ หล่อ วอเตอร์ ซัพพลาย ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำประปาในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ- 1 เหงะอาน ที่มีการก่อสร้างเพื่อขยายกำลังผลิตเพิ่มเป็น 8.4 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย และอยู่ระหว่างการดำเนินการวางท่อเพิ่มเติมเพื่อขยายเขตการให้บริการและรองรับปริมาณการใช้น้ำประปาที่เพิ่มขึ้นจากการเติบโตของประชากร

 

ด้านธุรกิจไฟฟ้า คาดว่ามีการเติบโตต่อเนื่องจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ทั้ง 8 แห่งที่ และกลุ่มโรงไฟฟ้า IPP ผลการดำเนินงานฟื้นตัวจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรปกติของโรงไฟฟ้า Gheco-One หลังจากที่โรงไฟฟ้าดังกล่าวได้กลับมาดำเนินงานตามปกติในไตรมาส 4/2564  และยังมีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการพัฒนาโซลูชันพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะในโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับโครงการ Prinx Chengshan ขนาด 19 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดเมกะวัตต์สูงที่สุดที่บริษัทฯ เคยติดตั้งมา ส่งผลให้มียอดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวม ณ สิ้นไตรมาส 3/2564 แล้วทั้งสิ้น 85 เมกะวัตต์ ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าทั้งปีที่วางไว้ 90 เมกะวัตต์ จึงทำให้บริษัทฯ มั่นใจว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์สูงกว่าเป้าปี 2564 ที่วางไว้

 

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง อาทิ การร่วมมือกับ บมจ.ปตท. และบริษัท เซอร์ทิส เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มพลังงานอัจฉริยะเพื่อซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในกลุ่มลูกค้าภายในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ได้แก่ ระบบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P Energy Trading โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งโครงการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองด้านนวัตกรรมพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ERC Sandbox)