กรมชลเล็งปรับปรุงระบบส่งน้ำโครงการฯโดมน้อยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ

27 พ.ย. 2564 | 03:31 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2564 | 10:31 น.

กรมชลประทานเสนอแผนปรับปรุงระบบส่งน้ำโครงการฯโดมน้อย จังหวัดอุบลราชธานี เพิ่มประสิทธิภาพการจัดน้ำเพื่อภาคเกษตรคลุมพื้นที่ 1.8 แสนไร่หลังเปิดใช้งานกว่า 40 ปี พบมีปัญหาด้านประสิทธิภาพการส่งน้ำ ความต้องการใช้น้ำชลประทานที่เพิ่มขึ้น

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลได้ดำเนินการศึกษาแนวทางปรับปรุงโครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย ซึ่งตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 บ้านโนนจันทร์ ต. โนนกลาง อ. พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพื่อให้โครงการมีการส่งน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการน้ำ ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม  และครอบคลุมพื้นที่อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้กรมชลฯได้ ติดตามความคืบหน้าในการจัดทำแผนพัฒนาโครงการ โดยได้มีการจัดประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย จ.อุบลราชธานี เพื่อให้ระดมความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจในแนวทางปรับปรุงระบบส่งน้ำ และให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและประชาชน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ มีชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งจะมีการรวบรวมไปสู่การปรับปรุงแผนพัฒนาโครงการที่สมบูรณ์

อย่างไรก็ดี จากการหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการและกลุ่มเกษตรกร พบว่าในพื้นที่ดังกล่าว สภาพปัจจุบันประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อทำการเกษตร มีน้ำใช้ไม่ทั่วถึง ซึ่งในอนาคตหากไม่มีการแก้ไข อาจทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำกับกลุ่มผู้ใช้น้ำในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานตามมา ดังนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงโครงการ
สำหรับแผนการปรับปรุงโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำโดมน้อย เป็นการงานปรับปรุงซ่อมแซมองค์ประกอบโครงการฯให้ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์เพื่อลดการสูญเสีย ประกอบด้วย การปรับปรุงซ่อมแซมดาดคอนกรีตคลอง LMC ความยาว 6.96 กิโลเมตร   ซ่อมแซมดาดคอนกรีตคลอง RMC ความยาว 6.96 กิโลเมตร  ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ที่เป็นอุปสรรคในการส่งน้ำ การรื้อถอนอาคาร ของคลองฝั่งขวา และมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารของคลองส่งน้ำฝั่งซ้าย ปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้น งานปรับปรุงการแก้ปัญหาตะกอนทราย และปัญหาวัชพืชในคลองส่งน้ำ ตลอดคลองสายใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีงานเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานเพิ่มระบบส่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อเสริมระบบส่งน้ำเดิม ได้แก่ การสร้างอาคารรับน้ำอาศัยแรงโน้มถ่วงจากอ่างเก็บน้ำสิรินธร ไปยังพื้นที่ปลายคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา พร้อมทั้งมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำแห่งใหม่ ขนาด 3.1 ล้านลูกบาศก์ต่อวินาที  และสถานีสูบน้ำเพิ่มเติมบริเวณหัวงาน 2.25  ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่บริเวณหัวงาน  ขณะเดียวกันยังได้มีการปรับปรุงขยายความกว้างของคลองสายใหญ่ฝั่งขวา ความยาว 8.10 กิโลเมตร และปรับปรุงขยายคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย 4 ช่วง ความยาวรวม 10.20 กม. เป็นต้น
เพื่อให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อยยกระดับขีดความสามารถในการบริหารจัดการน้ำมากยิ่งขึ้น เพื่อกระจายน้ำไปยังสายหลักและสายย่อย  โดยการติดตั้งระบบเครื่องตรวจวัดเพื่อจัดเก็บข้อมูลของโครงการ อาทิ วางแผนในการบริหารน้ำตั้งแต่แหล่งน้ำต้นทุน ,การคาดการณ์ความต้องการน้ำรายเดือน และการกำหนดแผนการส่งน้ำการส่งเสริมพัฒนาบุคลากรโครงการ เป็นต้น 

กรมชลเล็งปรับปรุงระบบส่งน้ำโครงการฯโดมน้อย จ.อุบลราชธานี
การวางระบบโทรมาตรเพื่อการบริหารจัดการน้ำในการติดตามผลการส่งน้ำเพื่อให้บริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกษตรกร การพัฒนาองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มผู้ใช้น้ำและเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกรและส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำและสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของระบบชลประทาน การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตด้านเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน 
และจัดทำฐานข้อมูลโครงการเพื่อใช้ในการติดตามการส่งน้ำและผลการเพาะปลูก เช่น การทำแผนที่พื้นที่เพาะปลูกในรูปของระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System, GIS) เพื่อใช้เป็นข้อมูลติดตามในการปรับแผนการส่งน้ำให้สอดคล้องกับผลเพาะปลูก และเผยแพร่ข้อมูลแผนที่พื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม(Agri-Map) เพื่อให้เกษตรกรแต่ละแปลงเพาะปลูกพืชที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง จำนวน 3 ปี วงเงินค่าก่อสร้างและปรับปรุงโครงการรวม 570.53 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดผลประโยชน์ในพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย 
1.เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ จากระบบชลประทานจากเดิมที่ส่งน้ำได้ 131,035 ไร่ เป็น 176,010 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 158,919 ไร่ พื้นที่ชลประทานสมทบ (พื้นที่นอกเขตชลประทาน) 17,091ไร่
2.เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำต้นทุน ในพื้นที่โครงการจากการก่อสร้างสถานีสูบน้ำแห่งใหม่ และอาคารผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำสิรินธร
3.เพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน จากการปรับปรุงอาคารชลศาสตร์และคลองชลประทาน
4.เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ จากการเสนอติดตั้งระบบโทรมาตร การจัดรอบเวรในการส่งน้ำ และการจัดองค์กรใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและพื้นที่รับประโยชน์โครงการที่เพิ่มขึ้น
5.เสนอแผนพัฒนาแหล่งน้ำทางเลือกในพื้นที่ สบ.4 บริเวณที่ไม่สามารถรับน้ำจากระบบชลประทาน
เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมดผลประโยชน์ทางการเกษตร เมื่อมีโครงการทำให้มีน้ำที่ใช้ได้ในการเกษตรและปริมาณน้ำมีเสถียรภาพ ทำให้เกิดผลประโยชน์ส่วนเพิ่มทางการเกษตร เป็นเงิน 9,325.21 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน ณ อัตราคิดลดร้อยละ 6.94 เท่ากับ 1,855.24 ล้านบาท
นายเฉลิมเกียรติ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ ประกอบด้วยโรงสูบน้ำติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 10 เครื่อง คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายระยะทาง 65.6 กิโลเมตร ฝั่งขวา 25 กิโลเมตร รวมทั้งคลองส่งน้ำสายซอยและแยกซอยรวมกัน 193 กิโลเมตร ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2527 และใช้งานมากว่า 40 ปี ทำให้ประสิทธิภาพการส่งน้ำลดลง ไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 183,044 ไร่ 
"กรมชลฯ ได้ เล็งเห็นความสำคัญในการปรับปรุงโครงการ ให้สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งเรื่องการอุปโภค บริโภค และการสร้างความมั่นคงน้ำภาคการผลิตทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำและระบบชลประทาน"