นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 1 ธันวาคม 64 จะมีการปรับปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ B20 B10 และ B7 ให้มีสัดส่วนประมาณ 7% หรือเหลือเพียง B7 เท่านั้น เป็นระยะเวลา 4 เดือน (ส่วนดีเซลพรีเมียมยังคงมีจำหน่ายเช่นเดิม) โดยในการปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซลดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลสามารถปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด ล่าสุดแม้แนวโน้มราคาเริ่มปรับตัวลดลง แต่ยังคงมีความผันผวนและทรงตัวในระดับสูง ดังนั้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้ปรับลดสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซลดังกล่าว
“ขอย้ำเรื่องการเติมน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ประชาชนสามารถใช้บริการที่ตู้หัวจ่ายได้ทั้งดีเซล B7 ดีเซลธรรมดา หรือ B10 และดีเซล B20 ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะทำให้ราคาอยู่ในระดับต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในภาพรวม และพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าอย่าง ไม่สะดุด"
สำหรับการดำเนินมาตรการดังกล่าวนั้น ที่ผ่านมา "ฐานเศรษฐกิจ" ได้เคยนำเสนอข่าวดังกล่าว โดยมีเนื้อหาระบุว่า กบง. ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน มีมติเห็นชอบปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วให้เหลือเพียงสัดส่วนผสมเดียว คือ 7% หรือ บี7 (B7) จากเดิมมีการผสมอยู่ 3 สัดส่วน คือ 7% หรือ บี7 (B7) ,10% หรือบี10 (B10) และ 20% หรือ บี20 (B20) ในเดือนธันวาคม 2564 – เดือนมีนาคม 2565
นอกจากนี้ จะขอให้ผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร โดยกรมธุรกิจพลังงานออกประกาศ เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. …. ใหม่ ที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล 7% และให้กองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ให้สอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบฯ
โดยปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อเดือน ในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ทั้งยังร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ผู้ประกอบการในการดูแลค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง การดูแลเกษตรกรผู้ผลิตปาล์มน้ำมัน
และให้คงราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งแม้ว่ากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแล้วแต่การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลในประเทศบางประเภทสูงขึ้นจนส่งผลกระทบกับการดำรงชีพของประชาชน
นายวัฒนพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 2,956 ล้านบาท แบ่งเป็น น้ำมัน 23,356 ล้านบาท ขณะที่ LPG ติดลบ 20,400 ล้านบาท โดยจากการดำเนินมาตรการปรับเกรดลดเหลือ B7 ชนิดเดียว จะทำให้กองทุนฯใช้เงินรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศลดเหลือ 3,886 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมที่ใช้ประมาณ 4,000 ล้านบาท ช่วยทำให้ลดภาระต่อเดือนลงได้ 106 ล้านบาทต่อเดือน