ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่โรงแรมเซ็นทาราโฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น อุดรธานี อ.เมืองอุดรธานี นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็นประธานพิธีเปิดประชุมเสวนา เรื่อง”พลิกอุดรธานีเชื่อมโลกทางอากาศและทางราง ข้อเสนอกลยุทธ์เร่งรัดเพิ่มขีดความสามารถอีสานตอนบนด้วยคมนาคมขนส่งเขียว”
จัดโดยกฎบัตรไทย สมาคมการผังเมืองไทย ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เพื่อระดมความเห็นของทุกภาคส่วน ผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Meeting ในการเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดเดินรถไฟจีน-ลาว 3 ธ.ค.นี้
นายวีรพงษ์ เต็งรังสรรค์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า อุดรธานีมีศักยภาพการเป็นศูนย์กลางในหลายด้าน โดยเฉพาะศูนย์กลางเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ ทั้งทางบก ทางราง และทางอากาศ ที่สามารถยกระดับขีดความสามารถสู่เวทีระดับโลกได้ สอดคล้องกับโครงการการรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว
โดยการหารือครั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมของพื้นที่ ในสิ่งที่ภาคเอกชนและภาครัฐสามารถดำเนินการได้ โดยที่ไม่เข้าไปยุ่งเรื่องข้อกฎหมายใด ๆ และเพื่อเสนอแนวคิดให้ทอท.เช่าบริหารสนามบินอุดรธานีแทน เพื่อยกระดับสนามบินอุดรธานีให้เป็นสนามบินหลักของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่สามารถเชื่อมโยงไปทั่วโลกได้
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาว่า อุดรธานีและขอนแก่นมีความใกล้ชิดกัน ทั้งด้านความเป็นอยู่และสังคมเศรษฐกิจ มีศักยภาพมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป โดยขอนแก่นมีภาคเอกชนที่เข้มแข็ง เป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาคอีสานในทุกระดับมานาน ขณะที่อุดรธานีเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน การบริการ และประตู่สู่อินโดจีน
อีกทั้งด้วยลักษณะของภูมิศาตร์ เป็นจุดศูนย์กลางของอนุภาคลุ่มน้ำโขง(CLMV) เป็นศูนย์กลางของระบบลิจิสติกส์ในภาคอีสานตอนบน ทั้งทางบก ทางอากาศ มีสนามบินขนาดใหญ่ มีเที่ยวบินและผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุดในภาคอีสาน มีระบบขนส่งทางบก ทางราง เป็นเมืองของธุรกิจนานาชนิด มีการเชื่อมโยงกระจายตัวไปยังพื้นที่อื่นของภาคและประเทศเพื่อนบ้าน
"คาดการณ์ว่าหลังเปิดการใช้บริการรถไฟจีน-ลาว การเชื่อมโยงด้านการขนส่ง จะเปลี่ยนแปลงไปมาก อุดรธานีจะกลายเป็ฯศูนย์กลางการขนส่งสำคัญ พื้นที่อีสานตอนบนหลายจังหวัด จะต้องเตรียความพร้อมในเรื่องของการเชื่อมโยงเพื่อใช้ประโยชน์จากรถไฟจีน-ลาวให้ด้มากที่สุด จึงต้องแสดงเจตจำนงที่แน่ชัด จับมือกันแสดงศักยภาพที่เป็นจุดเด่นของ 2 จังหวัดและอีสานตอนบน จากปัจจัยการเชื่อมทางรางไปยังโครงการรถไฟจีน-ลาว เป็นสิ่งสำคัญและต้องร่วมมือกันจริงจัง"
นายสยามกล่าวอีกว่า ยังมีการเชื่อมโญงทางอากาศที่เป็นศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ เพราะรวดเร็ว ประหยัดเวลา และมีพัฒนาการก้าวหน้าไปไกล อุดรธานีและขอนแก่นมีสนามบินที่ได้พัฒนาแบบพันธมิตร เกิดการเชื่อมโยงในลักษณะต่าง ๆ ทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศ โจทย์คือทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมโยงกันตามเป้าประสงค์
"สังคมในยุคปัจจุบันนี้อย่ามัวแต่มายึดกับกฎระเบียบปฏิบัติมากไป เพราะกฎระเบียบมีแนวโน้มแข็งตว ตายตัว ถ้ามัวแต่ยึดระเบียบจะตามคนอื่นไม่ทัน วันนี้ประชาชน เอกชน พัฒนาก้าวหน้าไปมาก เพราะมีแรงจูงใจสูง ต้องการพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า จะได้ไม่ต้องไปทำงานที่อื่น"
ส่วนศักยภาพการพัฒนาเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น ต้องเป็นการเชื่อมระหว่างคน ประเพณีวัฒนธรรม การเดินทางท่องเที่ยว การค้า การลงทุน และอื่น ๆ ด้วย ไม่ใช่อยู่ ๆ จะให้เกิดการเชื่อมโยงกันเลย ทุกฝ่ายทุกภาคส่วน ประชาชนและเอกชนในพื้นที่ ต้องมีความร่วมมือกันทุกฝ่ายอย่างจริงจัง และเอาจริง ทั้งนี้ ภาครัฐพร้อมที่จะเป็นหน่วยสนับสนุนทุก ๆ อย่างอยู่แล้ว
ด้าน ดร.ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดรธานี กล่าวว่า ในฐานะผู้บริหารจัดการเมืองอุดรธานี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นผู้อำนวยการวงดนตรี(คอนดักเตอร์) มีหน้าที่ดึงความสามารถของนักดนตรีแต่ละคน ที่เล่นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น ให้ทุกอย่างประกอบกันขึ้นมาเป็นเพลงที่สมบูรณ์แบบ การกำกับบริหารเมืองก็เช่นกัน จะต้องกำหนดทิศทาง คน หน่วยงาน ทุกภาคส่วนให้ทำงานสอดคล้องกันเพื่อท้องถิ่น
"เคยพูดอยู่เสมอว่า การสร้างเมืองพัฒนาเมืองไม่สามารถทำให้สำเร็จได้เองคนเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทุกภาคส่วน ร่วมสร้างความพร้อมขึ้นมา จึงเป็นใครก็ได้ที่มีความพร้อม ในการทำหน้าที่ผู้บริหารจัดการเมือง ที่มีความสามารถกำกับกฎระเบียบที่แตกต่างกัน ให้ไปในทิศทางเดียวกันอยางที่ถูกต้องเป็นธรรม มาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการเมือง"
ดร.ธนดร กล่าวอีกว่า เร็ว ๆ นี้ เทศบาลนครอุดรธานี จะเชิญฝ่ายและบุคคลในระดับต่าง ๆ ในเทศบาลอุดรธานี ร่วมกับจังหวัด มาระดมความคิดเพื่อทำแผนการพัฒนาเมืองอุดรธานี ในลักษณะของสภาพลเมือง ว่าในอีก 4 ปี อุดรธานีจะต้องทำอะไรบ้าง อีก 8 ปีข้างหน้าต้องมีอะไร ในฐานะของท้องถิ่นร่วมกับเอกชน หน่วยงานในพื้นที่ เพื่อนำเสนอแผนงานโครงการให้ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อขอรับการสนับสนุนการพัฒนาเมือง ทั้งด้านงบประมาณและวิชาการ ส่วนหนึ่งก็จะใช่เงินสะสมของเทศบาล เพื่อเป็นการเสริมกับศักยภาพของอุดรธานีที่มีจุดแข็งอยู่แล้ว ให้มีความเข้มแข็งเพิ่มยิ่งขึ้น
ในฐานะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ 1 ใน 5 แห่งของอีสาน และอนาคตอีกไม่นานหลังเปิดใช้รถไฟจีน-ลาว จะเกิดความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการขนส่งทางราง และอุดรธานีถูกเลือกเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสำคัญหลายรายการ ทั้งระดับชาติและระดับโลก ซึ่งเทศบาลนครอุดรธานีได้เตรียมความพร้อมไปกับจังหวัดและภาครัฐ ให้มีความสอดรับกัน
นอกจากการเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์แล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือ การสร้างเมืองให้เกิดความเชื่อมต่อในด้านความสำคัญของความสัมพันธ์คนหลายเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในเมืองอุดรธานี คือทั้งคนท้องถิ่นเดิมของอุดรธานี คนไทยเชื้อสายจีน และคนไทยเชื้อสายเวียดนาม ให้สัมพันธ์แน่นแฟ้นทางวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ สร้างเมืองให้เกิดการเชื่อมต่อด้านวิถีชีวิต เกิดเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่น เป็นต้นทุนของการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งอีกด้วย
ส่วนการเตรียมรับนักท่องเที่ยวที่จะมากับขบวนรถไฟจีน-ลาวนั้น นางธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานอุดรธานี ดูแลพื้นที่ 3 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ เผยว่า ทั้ง 3 จังหวัดได้เปิดเมืองบ้างแล้วเป็นส่วน ๆ และเตรียมพื้นที่อีกหลายที่เพื่อจะเปิดเมืองเพิ่มเติม ซึ่งต้องค่อยทำไปให้สอดคล้องกับสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19
แต่เวลานี้ของสปป.ลาวยังปิดรับการเดินทางข้ามพรมแดน และทางการยังไม่มีประกาศกรณีนี้ คาดว่าต้องคอยดูสถานการณ์หลังจากเปิดบริการเดินรถไฟไปสักระยะหนึ่งก่อน การจะรับนักท่องเที่ยวนักธุรกิจจีน ที่จะเดินทางผ่านเข้ามาทางด่ายชายแดนหนองคาย เข้าอุดรธานี คงจะค่อยเป็นค่อยไปตามสถานการณ์เชื้อโควิด-19 ด้วย