สึนามิจีนถึง‘เวียงจันทน์’ ธุรกิจไทยต้องปรับ 360 องศา

24 พ.ย. 2564 | 06:37 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2564 | 13:50 น.

ดร.อัทธ์ ม.หอการค้าไทย ปลุกนักธุรกิจชายแดนไทย-ลาว ปรับตัวรับคลื่นการเปลี่ยนแปลง หลังเปิดเดินรถไฟจีน-ลาว เปลี่ยนยูนนาน-ลาวเป็น “แลนด์ลิงค์” พลิกโฉมลาว 5 ด้าน แนะอุดรธานีต้องดักโอกาสให้เกิดประโยชน์อย่าให้เป็นแค่เมืองผ่าน ทั้งที่เต็มด้วยศักยภาพทุกด้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย คอลัมนิสต์ประจำหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ บรรยายในการสัมมนาระบบ ZOOM Meeting จัดโดยหอการค้าอุดรธานี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) หัวข้อ “รถไฟจีน-ลาว:โอกาสและความท้าทายที่ไทยต้องเตรียมพร้อม”

ทางรถไฟสายนี้จะเปิดให้ “หนึ่งมณฑล(ยูนนาน) หนึ่งประเทศ(ลาว)” เปลี่ยนจากแลนด์ล็อกเป็นแลนด์ลิงค์ จากเดิมที่ไม่มีทางออกทะเล เป็นความร่วมมือของจีน-ลาว ภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) จากคุนหมิงถึงสิงคโปร์เมืองท่าโลก

สึนามิจีนถึง‘เวียงจันทน์’ ธุรกิจไทยต้องปรับ 360 องศา

สึนามิจีนถึง‘เวียงจันทน์’ ธุรกิจไทยต้องปรับ 360 องศา

โดยเส้นทางคุนหมิง-ลาว-ไทย-สิงคโปร์ มีระยะทาง 3,600 กิโลเมตร ช่วงแรกจากจีน-ลาวสร้างเสร็จแล้วจะเปิดเดินรถเดือนธันวาคม 2564 นี้ และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในลาวมหาศาล หากไทยไม่ปรับตัวอะไรเลยจีนจะกลายเป็นคู่ค้าหลักของลาวแทนไทย

“หนองคาย อุดรธานี พร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยวจีนส่วนหนึ่ง ที่จะเดินทางข้ามด่านชายแดนหนองคาย เข้ามายังพื้นที่ของอีสานแล้วหรือยัง ซึ่งเรื่องการเดินทางท่องเที่ยวต้องดูคู่กับสถานการณ์เชื้อโควิด-19 โดยขณะนี้ประเทศจีนยังไม่ได้ยกเลิกมารตรการไม่อนุญาตให้คนจีนเดินทางออกนอกประเทศ”

สึนามิจีนถึง‘เวียงจันทน์’ ธุรกิจไทยต้องปรับ 360 องศา

พิธีเปิดอุโมงค์ระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ลาว

ส่วนโอกาสของไทย ดร.อัทธ์กล่าวว่าน่าจะเป็น 5+4 คือ 5 จังหวัดชายแดนของไทย คือ เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ เลย หนองคาย รวมถึงจังหวัดที่มีเขตแดนติดต่อกับ 5 จังหวัดดังกล่าว ก็มีโอกาสที่จะได้รับอานิสงส์ในทางบวกไปด้วยเช่นกัน ไปเชื่อมกับ 4 เมืองสำคัญของลาว คือ นครหลวงเวียงจันทน์ หลวงพระบาง อุดมไซ และบ่อเต็น

ดร.อัทธ์ ชี้ด้วยว่า ธุรกิจภาคบริการจะมีการเจิญเติบโตมาก หลังจากที่เปิดใช้รถไฟจีน-ลาว จะมีนักเดินทางท่องเที่ยวตามเส้นทางรถไฟนี้จำนวนมาก กลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับคนไทย เพื่อที่จะรองรับนักเดินทางท่องเที่ยวชาวจีน และธุรกิจที่จะเกิดจากขบวนรถไฟจีน-ลาว ได้แก่ กลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป ผลไม้นานาชนิด ธุรกิจปศุสัตว์ อาหารทะเลสด ธุรกิจบริการ ของใช้ภายในบ้าน เวชภัณฑ์ สมุนไพร เครื่องสำอาง

สำหรับธุรกิจผลไม้ ซึ่งจีนกำลังมีแนวคิดที่จะเข้ามาพัฒนาปรับปรุงผลาดผลไม้ของลาว ให้กลายเป็นศูนย์กลางตลาดผลไม้ที่ทันสมัย ฉะนั้น คนไทยจะต้องรีบคิดรีบทำ ธุรกิจการขนส่ง  Cross Boder E-commerce Zone ประเทศไทยต้องรีบทำ

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย

แนวทางการดำเนินการคือ การอนุญาตให้นักดินทางท่องเที่ยว สามารถนำสินค้าติดตัวข้ามแดนได้ตามที่กำหนด เหมือนที่ทางการจีนปฏิบัติอยู่ในขณะนี้ ถ้าไม่เกินกำหนดก็ไม่ต้องเสียภาษี ถ้าไทยทำได้ก็จะเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งจีนและชาติชาติอื่นๆ เข้ามาใช้บริการของไทยเป็นจำนวนมาก เรียกว่าแบบถล่มทลาย สิทธิประโยชน์ในการลงทุนก็ให้เพิ่มไปเลยทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น เพื่อจูงใจการลงทุนทุกระบบบ

การท่องเที่ยวรูปแบบไมซ์ เห็นว่าอุดรธานีน่าที่จะดำเนินการ เพราะอุดรธานีเป็นเมืองใหญ่ มีความพร้อมเรื่องของสถานที่ ศักยภาพบุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ มีสนามบินขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางของการค้า การลงทุน การบริการ เป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขง และกลุ่มประเทศ CLMV ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นพื้นที่ทางผ่านไปยังจุดหมายต่างๆ เช่น พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ เท่านั้น

เป็นโจทย์ใหญ่ของอุดรธานี ที่จะต้องทำในสิ่งที่แปลกใหม่ มีสีสัน เพราะคนจีนชอบเรื่องของสีสันที่สวยงาม

ธุรกิจปศุสัตว์ที่ประเทศ ไทยมีความพร้อม และมีศักยภาพเทคโนโลยีสมัยใหม่ จะต้องเข้าไปเชื่อม ต่อยอดในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วน เข้าไปเติมเต็มแบบครบวงจร ตั้งแต่การจัดการระบบ ตั้งโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ส่งไปขายให้ประเทศจีน และในกลุ่มประเทศ CLMV ส่วนอาหารทะเลนั้น ประเทศ สปป.ลาว และมณฑลยูนนานไม่มีทะเล ถ้าสามารถจัดตั้งเป็นตลาดขายอาหารทะเลตามพื้นที่แนวชายแดน ขายให้คนลาวคนจีนก็น่าที่จะมีโอกาสมาก

สินค้าอีกประเภทหนึ่งได้แก่ อาหารเกษตร เนื่องจากประเทศ สปป.ลาว มีพื้นที่ราบน้อย มีข้อจำกัดในการผลิตสินค้าการเกษตร ประเทศไทยก็ใช้โอกาสให้เข้าไปเป็นพันธมิตร นำสินค้าเกษตรชนิดต่างๆ ทั้งในรูปแบบแปรรูป หรือแบบสดๆ เช่น ผลไม้นานาชนิดจากไทยส่งให้ลาว เพื่อส่งป้อนต่อไปยังประเทศจีน 

ช่วง 10 ปีก่อนโครงการรถไฟไทย-จีนจะเสร็จ เรื่องด่วนที่ไทยต้องเร่งดำเนินการ ได้แก่ จะต้องเชื่อมต่อสถานีขนส่งคน และศูนย์กระจายสินค้าทั้งค้าปลีกค้าส่งที่เวียงจันทน์ ต้องรีบดำเนินการโดยเร็ว มีศูนย์การเจรจาที่ทันสมัย ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในเรื่องธุรกิจได้ทุกชนิด มีความรวดเร็ว ชัดเจน ยุติธรรม บริการทุกเรื่องจบในที่เดียว

มีศูนย์บริการท่องเที่ยวอาเซียน ที่มีความพร้อมด้วยข้อมูลทุกอย่าง ทั้งการท่องเที่ยวอินน์บาวด์ และเอาท์บาวด์ มีเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ที่มีความพร้อม ทั้งการบริการและการแสดงโชว์ต่างๆ แบบมีแสง สี เสียง เพื่อให้เป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ให้ใช้บริการอยู่ในพื้นหลาย ๆ วัน โดยเฉพาะจังหวัดพื้นที่ชายแดน ก่อนที่เขาจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่จุดหมายอื่นต่อไปซึ่งประเทศไทยจะต้องปรับแนวคิดเสียใหม่ หากไม่ต้องการเสียโอกาสต่าง ๆ ไป 

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,734 วันที่ 25-27 พฤศจิกายน พ.ศ.2564