ความคืบหน้าโครงการ “ประกันรายได้ยางพารา” ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 ใช้วงเงินรวมงบประมาณทั้งสิ้น 10,065,687,645.28 บาท หรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท. ) ทั้งบัตรสีเขียว และบัตรสีชมพู ซึ่งแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยาง กับ กยท. ภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,880,458 ราย เกษตรกรชาวสวนยาง เช็กสิทธิ์ ผ่านลิงค์ https://www.raot.co.th/gir/index/ และตรวจสอบสถานะการโอนเงินได้ https://chongkho.inbaac.com/ ตลอด 24 ชั่วโมง ล่าสุด ความคืบหน้า มาถึงแล้ว
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในสัปดาห์หน้า จะมีการเคาะราคาประกันรายได้ยางพารา 2 งวด พร้อมกันเลย กล่าวคือจะชดเชย ย้อนหลัง เดือนตุลาคม และพฤศจิกายน นี้ (ระยะประกันรายได้ตั้งแต่ ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) โดย แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน ร้อยละ 60 และคนกรีด ร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยกำหนดราคาประกันรายได้ ดังนี้
• ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม
• น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม
• ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม
นายณกรณ์ กล่าวว่า การ "จ่ายเงินประกันรายได้ยางพารา" ถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ ที่รัฐบาลมอบให้กับชาวสวนยางทั้งประเทศ
สอดคล้องกับ นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.),คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิงในการประกันรายได้ตามชนิดยางและอัตราค่าชดเชยรายได้ (ระยะที่3 ) กล่าวว่า ทางผู้ว่าการ กยท. ได้มีหนังสือมาแจ้งข่าวแล้ว จะมีการเคาะราคาประกันราคายาง 2 งวด ดังนั้น จึงขอแจ้งให้ชาวสวนทั้งประเทศรอฟังข่าวดี
“จากผลงาน เยียวยาเกษตรกร จนกระทั่งมาถึงประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งไม่ครอบคลุมพี่น้องชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์(บัตรสีชมพู) และถ้ายึดตามสมุดเล่มเขียวของกรมส่งเสริมการเกษตร พี่น้องชาวสวนยางจะได้รับการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แค่หัวหน้าครัวเรือนเพียง 1 คน”
นายสุนทร กล่าวว่า ผมต่อสู้และผลักดันเรื่องนี้จนกระทั่ง ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน เห็นด้วย และมีมติ ครม.เพิ่มเติม ซึ่งทำให้พี่น้องชาวสวนยางบัตรสีชมพูได้รับการเยียวยา และได้รับการเยียวยาเป็นรายตามทะเบียนของการยางแห่งประเทศไทย บางครอบครัวได้รับเงินเยียวยานับแสนบาท
"เช่น พ่อเป็นเจ้าของสวน คนในครอบครัวเป็นคนกรีดยางอีก 5-6 ราย จนเป็นที่อิจฉาของเกษตรกรพืชอื่น เพราะอานิสงค์จาก พรบ.การยางแห่งประเทศไทย และด้วยความใส่ใจของรัฐมนตรีเฉลิมชัย ลูกผู้ชาย คำไหน คำนั้นเป็นหนึ่งในผลงานที่ผมภาคภูมิใจที่ทำให้ชาวสวนยางกินได้"
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (3 ธันวาคม 2564) ธ.ก.ส. จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เป็นวาระพิเศษ เพื่อให้ความเห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินงานและอนุมัติวงเงินงบประมาณรวม 138,224.76 ล้านบาท
โดยหนึ่งในวาระนั้นได้บรรจุ "โครงการประกันรายได้ยางพารา" หรือ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 3 จะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป
ช่องทางตรวจสอบสถานะโอนเงิน
1. เข้าสู่เว็บไซต์ chongkho.inbaac.com ของ ธ.ก.ส. ผ่านเบราว์เซอร์อินเตอร์เน็ตต่างๆ เว็บไซต์สำหรับการเช็คเงินเกษตรกร สามารถเข้าใช้งานได้ผ่านทุกบราวน์เซอร์บนทุกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และ คอมพิวเตอร์
2.ตรวจสอบสถานะการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง คลิก https://www.raot.co.th/gir/index/ จะทราบทันที ว่า ได้ขึ้นทะเบียนกับ กยท. หรือไม่ แต่ถ้าหากได้รับเงินใน โครงการประกันรายได้ยางพารา ปี 1 และ ปี 2 แล้ว สบายใจ ได้รับเงินชัวร์