นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในการเสวนา “ผ่าทางรอด ธุรกิจไทย หลังเปิดประเทศ” ในงาน Virtual Seminar “ GO Thailand : เปิดเมือง เปิดประเทศ เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหน” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ความตอนหนึ่งว่า การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด ที่ล่าสุดมีสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนมากขึ้น หากองค์การอนามัยโลก (WHO)สามารถออกมาประกาศว่าไม่มีความรุนแรงอย่างไรก็ดีคงต้องรอฟังจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะว่าอย่างไร
“ขณะนี้ยังสบายใจได้ เพราะเชื้อโควิดโอมิครอนที่มีการแพร่ระบาดไปกว่า 60 ประเทศยังไม่พบมีผู้เสียชีวิต แต่ทางด้านจิตวิทยาเกี่ยวกับนักท่องเที่ยว ผู้ที่จะเดินทาง หรือจะไปประชุมที่ไหนก็ต้องมีความระมัดระวังมากยิ่ง แต่คนไทยก็ยังเชื่อว่าระบบสาธารณสุขของเรายังเอาอยู่ ในช่วงสั้นนี้ยังไม่เห็นผลกระทบทางลบเท่าใดนัก”
ต่อคำถามที่ว่าภาคธุรกิจเอกชนได้เรียนรู้อะไรบ้างจากวิกฤติโควิดที่ผ่านมา นายสนั่น กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ และน่าพอใจคือ เมื่อต้นเดือนเมษยน 2564 ทางภาคเอกชนได้เรียกร้องรัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส มาฉีดให้กับคนไทย วันนี้จัดหาได้ 97 ล้านโดสแล้ว และสามารถกระจายฉีดให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึง ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มาก ๆ
เรื่องที่ 2 ทำให้พวกเราเข้าใจถึงว่า ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ขณะเดียวกันปากท้องของประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งก็ได้เรียนรู้กันมา จากก่อนหน้านี้มีภัยคุกคามจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก่อนที่โควิดจะเข้ามา ทำให้มี Business Disruption เกิดขึ้น เมื่อมีโควิดเข้ามาซ้ำเติม ทำให้เรารู้ว่าสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลง และต้องปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เช่น เราพูดถึงคำว่า VUCA ทำให้เวลานี้สถานการณ์ต่าง ๆ มีความผันผวนเป็นอย่างมาก ซึ่งเราเรียกว่า Volatility เรื่องที่ 2 คือความไม่แน่นอน (Uncertainty) เรื่องความซับซ้อน (Complexity) สถานการณ์มีความสับสนมาก ๆ และอีกเรื่องที่สำคัญมาก ๆ คือ Ambiguity ที่สถานการณ์โลกมีความคลุมเครืออย่างมาก
“ฉะนั้นเราจะต้องสามารถที่จะบริหารจัดการไม่ว่าจะภาครัฐบาล ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนจะต้องมีความคล่องตัวในเรื่องต่าง ๆ และในการปรับตัวนี้ทำให้บริหารจัดการวิกฤติที่เกิดขึ้นได้ ที่ผ่านมาจะเห็นว่า ภาคธุรกิจที่อยู่รอดได้ และมีความเข้มแข็งคือผู้ที่มีความสามารถในการบริหารจัดการวิกฤติได้เป็นอย่างไร ขณะที่เรื่องการดูแลเรื่องสภาพคล่องเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก”
ทั้งนี้เมื่อดูประเทศไทยแล้วจะพบว่าโครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งโลกภายนอก(ต่างประเทศ)มากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ภาคบริการ การส่งออก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จำเป็นที่เราต้องกลับมาทบทวนดูอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิดการสร้างโลคอนดีมานต์ หรือทำให้เกิดการบริโภคจากภายในเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น เห็นได้จากประเทศจีนที่มีการปรับเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว
อีกเรื่องที่เห็นชัดคือความเหลื่อมล้ำทางสังคมในช่วงโควิดมีช่องว่างที่ขยายกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งปีหน้านายกรัฐมนตรีได้พูดถึงว่าจะเป็นปีที่พลิกโฉมประเทศไทย ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันให้อนาคตของประเทศไทยสดใสขึ้น
นายสนั่น กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยากให้รัฐบาลเร่งทำเพิ่มเติม เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลานี้ เช่น การนำมาตรการ “ช้อปดีมีคืน”กลับมาใช้ให้ทันเวลาช่วงปลายปี จากเดิมมาตรการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร รวมถึงมาตรการเยียวยาต่าง ๆ โครงการพักทรัพย์พักหนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินมากขึ้น เป็นต้น