จากกรณีที่มติคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ได้อนุมัติเงินเยียวยาโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 วงเงินงบประมาณจำนวน 53,871.84 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือชาวนาปี64/65 ไร่ละ 1,000 บาท
โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือ ชาวนา จากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงเป็นการจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี เพื่อที่จะมีโอกาสขายข้าวในราคาที่สูงและมีรายได้มากขึ้น
หลังจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ ได้Kick Offจ่ายส่วนต่างแล้ววันนี้ 5 งวดที่ค้าง คืองวดที่3-7รวมเป็นเงิน 64,847 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายส่วนต่าง ปีที่ 3 เงินที่เกษตรกรจะได้รับ มี 3 ก้อน โดยก้อนที่1 เป็น เงินส่วนต่างที่งวดที่ 1-2 กับงวดที่ 3 บางส่วน ได้จ่ายให้กับเกษตรกรไปแล้ววงเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท ส่วนงวดที่ 3 ที่เหลือ จะมาจ่ายให้ครบโดยเริ่มจ่ายวันนี้ (9 ธ.ค. 2564) โดยจ่ายงวดที่ค้างอยู่ 5 งวดพร้อมกัน
อัพเดท นายเกียรติศักดิ์ ใต้โพธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่าหลังจากที่คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้อนุมัติราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 รอบที่ 1 งวดที่ 8 โดยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 มีมติจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 ที่ระบุวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย.-2 ธ.ค.2564
จำนวน 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว เกษตรกรสามารถตรวจสอบ ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการจ่ายเงินส่วนต่างของ งวดที่ 8 ได้ ประกอบด้วย
1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคา 11,128.41 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,871.59 บาท
2. ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคา 10,865.42 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,134.58 บาท
3. ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคา 9,808.99 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,191.01 บาท
4.ข้าวเปลือกเจ้า ราคา 8,045.44 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 1,954.56 บาท
5.ข้าวเปลือกเหนียว ราคา 8,384.02 บาทต่อตัน ชดเชยตันละ 3,615.98 บาท
โดยเกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างสำหรับงวดที่ 8 สูงสุด ดังนี้
ทั้งนี้ การจ่ายเงินส่วนต่างในโครงการประกันรายได้ในปีที่ 3 ยังคงหลักการเช่นเดิม โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าไปยังบัญชีของเกษตรกรภายใน 3 วันทำการหลังจากที่ได้มีการประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเช่นเดียวกับปี 1 และปี 2 โดย ธ.ก.ส. ทั้ง 25 สาขาในจังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดการโอนเงินโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว ปี 2564/2565 ระหว่าง วันที่ 10-13 ธันวาคม 2564 จำนวน 271,223 ราย เป็นเงิน 5,486,200,199.69 บาท
นายเกียรติศักดิ์ กล่าวอีกว่าสำหรับเงินช่วยปรับปรุงคุณภาพข้าวไร่ละ 1,000 บาท หรือ "เงินไร่ละ 1,000 บาท" หลังคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เห็นชอบจะดำเนินการจ่ายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อไป ไร่ละ 1,000 บาทไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ คือ ไม่เกินครัวเรือนละ 20,000 บาทตามมาตรการคู่ขนานในการช่วยเหลือชาวนาอีกประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และมติที่ประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รัฐบาลจัดทำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี มีโอกาสขายข้าวในราคาที่สูงและมีรายได้มากขึ้น โดยสนับสนุนเงินให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รอบที่ 1 กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาทต่อครัวเรือน วงเงินงบประมาณจำนวน 53,871.84 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 4.57 ล้านครัวเรือน โดยจะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรในวันที่ 13 – 17 ธันวาคม 2564
จังหวัดอุบลราชธานี มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มีสิทธิได้รับเงินตามโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/2565 โดยมีกำหนดการโอนเงิน ระหว่างวันที่ 14-17 ธันวาคม 2564จำนวน 289,955 ราย เป็นเงิน 3,655,566,009.50 บาท
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect รวมถึงสามารถเบิกถอนเงินสดผ่านตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ.
ที่มา: ธ.ก.ส.อุบลราชธานี