“ซีโร่โควิด" จีนพ่นพิษ “ผลไม้ไทย” แจ้งทูตเกษตรหารือด่วน

15 ธ.ค. 2564 | 09:18 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2564 | 16:18 น.

“เฉลิมชัย” สั่งการทูตเกษตรเร่งหารือจีนแก้ปัญหาด่านส่งออกผลไม้ติดขัด เพราะมาตรการซีโร่โควิดของจีน ทุบส่งออกเดี้ยง “อลงกรณ์” เผยประชุมสมาพันธ์โลจิสติกส์เดินหน้าประสานจีนส่งออก "กล้วยไม้ -ยางพารา" ประเดิมเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน ส่วนผลไม้รอหลังตรุษจีน ชัวร์

จากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ "โควิด-19" ที่เข้มงวดของด่านนำเข้าจีน ส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ของไทยเป็นอย่างมาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระุทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการและบริหารการจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้สั่งการทูตเกษตร เร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและหารือฝ่ายจีนเพื่อแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกการขนส่งผลไม้ไทย

 

อลงกรณ์ พลบุตร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย วันนี้ ล่าสุดได้รับรายงานจากกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำนครกว่างโจว ว่าจากการที่ด่านของจีนมีมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด(Zero Covid) ที่อาจติดมากับการขนส่งสินค้าผ่านห่วงโซ่ความเย็นที่เข้มงวด

 

ส่งผลต่อการบริหารจัดการรถบรรทุกสินค้านำเข้าและส่งออกผ่านด่านโหย่วอี้กวน และด่านตงซิง เขตฯ กว่างซีจ้วง ทำให้ปริมาณรถผ่านเข้าออกลดลงจากเดิมมาก และมีรถติดสะสมหน้าด่านจำนวนมาก ทั้งนี้ จากมาตรการของด่านทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่านด่านมากกว่าช่วงปกติ ส่งผลให้ปริมาณรถเข้า-ออกด่านลดลงจากช่วงปกติกว่า 50%

 

นอกจากนี้ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว ได้ประสานงานด่านรถไฟผิงเสียงในการเร่งกลับมาเปิดบริการ เพื่อช่วยในการกระจายสินค้าผลไม้ไทยจากด่านโหย่อี้กวนและด่านตงซิง ซึ่งปัจจุบันมีปัญหารถติดสะสมจำนวนมาก และได้นัดหมายประชุมหารือกับนายกเทศมนตรีเมืองตงซิงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมืองตงซิงในวันที่ 16 ธันวาคมนี้

 

เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหารถติดที่ด่านตงซิง และการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านด่านตงซิง สำหรับด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนาน ฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดลองการเดินรถ โดยด่านบ่อเต็นฝั่ง สปป.ลาว อนุญาตให้ทดลองปล่อยรถขนส่งผลไม้ไทยเข้าจีนได้วันละ 5 คัน หากไม่พบปัญหาการตรวจพบเชื้อโควิด-19 ด่านโม่ฮานจะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ

 

นายอลงกรณ์ฯ กล่าวว่า เส้นทางรถไฟระหว่างนครคุนหมิง-เวียงจันทน์ (สปป.ลาว) เป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีน ซึ่งได้รับรายงานว่าจีนอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมของจุดตรวจสอบกักกันผลไม้นำเข้า คาดว่าจะสามารถเปิดนำเข้าผลไม้ไทยได้ในต้นปีหน้า รวมทั้งขอให้ผู้ประกอบการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหากจำเป็นต้องส่งสินค้าผ่านด่านทางบกของเขตฯ กว่างซีจ้วง และมณฑลยูนนาน

เส้นทางรถไฟ

 

"ส่วนกรณีมีข่าวว่ามีผลไม้จีนทะลักเข้าไทยผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว นั้น ไม่เป็นความจริง ด่านตรวจพืชหนองคายยังไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากจีน แม้แต่ตู้เดียว ทั้งนี้หลังจากที่เส้นทางรถไฟดังกล่าวเปิดบริการเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา จีนได้มีการทดลองขนส่งผักมาไทย จำนวน 33 ตู้ และจะมีไม้ตัดดอกเข้ามาอีก 2 ตู้ ในวันที่ 15 ธันวาคม ผักอีก 26 ตู้ ในวันที่18 ธันวาคม ซึ่งยังเป็นปริมาณที่น้อยมาก"

 

ส่วนใหญ่มาจากการเปลี่บนการขนส่งจากรถเทรลเลอร์บนเส้นทางR3Aมาเป็นรถไฟเพราะด่านโมฮ่านของจีนติดขัดแออัดอย่างหนักเพราะมาตรการป้องกันโควิด  และนอกจากนี้จีนยังประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งและการจองตู้ล่วงหน้าซึ่งทำได้ยากมาก

ในส่วนกระทรวงเกษตรได้เตรียมความพร้อมล่วงหน้ามากว่า1ปี และเมื่อมีการทดลองขนส่งล็อตแรกของจีนมาไทยได้สำเร็จในวันที่3 ธันวาคม ท่านรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ผมประชุมกับสมาคมและสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของไทยและให้ติดต่อกับบริษัทจีนเพื่อร่วมมือในการส่งออกสินต้าเกษตรของเรา

 

โดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ที่บริษัทดังกล่าวขนสินค้าจีนมาไทย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเป็นการขนส่งทั้งขาไปและขากลับ ถ้าเขามา100ตู้ก็ขนสินค้าเกษตรของเรากลับไป100ตู้เช่นกัน เรียกว่า "Win-Win" ทั้ง 2 ฝ่าย ช่วงนี้ยังไม่คล่องตัวนักเนื่องจากเพิ่งเริ่มเปิดบริการ ต้องพร้อมทั้งฝ่ายเขาฝ่ายเรา

 

"สำหรับสินค้าเกษตรอื่นๆอยู่ระหว่างเตรียมการส่งออกได้แก่กล้วยไม้และยางพาราบนเส้นทางรถไฟไทย-จีน-ลาวซึ่งกระทรวงเกษตรฯ.ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสมาคมผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้เพื่อให้สามารถส่งออกโดยใช้เส้นทางดังกล่าว รวมทั้งกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกสินต้าเกษตรอื่นๆด้วย เท่าที่ทราบจีนจะพร้อมหลังตรุษจีนปีหน้า”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

 

ทั้งนี้ จากสถิติการส่งออกผลไม้ไทยไปยังประเทศจีนของกรมวิชาการเกษตร พบว่าเดือนมกราคม 2564 - ปัจจุบัน ไทยส่งออกผลไม้ไปยังประเทศจีน มีปริมาณกว่า 2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 148,000 ล้านบาท โดยปริมาณการส่งออกผลไม้สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ลำไย และมะพร้าวอ่อน ตามลำดับ