ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564 ที่ห้องประชุมชั้น 5 เทศบาลนครนครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ นายภิญโญ นิโรจน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดระเบียบสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และการบริหารจัดการไฟฟ้าส่องสว่างอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ สภาผู้แทนราษฏร พร้อมด้วยคณะกรรมาธิการฯ ได้ร่วมประชุมการพัฒนาระบบไฟฟ้าลงใต้ดิน และจัดระเบียบสายในพื้นที่ตัวเมืองนครสวรรค์
มีนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายจิตต์เกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โยธาธิการและผังเมือง อบจ.นครสวรรค์ รวมทั้งหน่วยงานด้านระบบไฟฟ้าและสายสื่อสาร เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดย นายสงกรานต์ ชุติธนธีระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 (ภาคเหนือ) จ.ลพบุรี นายศิริชัย เงินงอก ผจก.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.นครสวรรค์ และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุมด้วย
นายจิตตเกษมณ์ กล่าวในที่ประชุมถึงภาพรวมการดำเนินงานด้านการพัฒนาต่าง ๆ ที่รัฐบาลผลักดันให้เทศบาลนครนครสวรรค์ เป็นเทศบาลนำร่องในโครงการที่ย่านอัจฉริยะ (Smart Block) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้อย่างเต็มรูปแบบต่อไป
ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เสนอแผนการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินในหลายเส้นทาง เช่น หน้าอุทยานสวรรค์ (หนองสมบุญ) ถึงสี่แยกพหลโยธิน ในโครงการ 1 จังหวัด 1 ถนนเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งขณะนี้รอการอนุญาตจากแขวงการทางนครสวรรค์ ที่ 1 เพื่อจะได้ดำเนินการก่อสร้าง
รวมทั้งเส้นทางที่เทศบาลนครนครสวรรค์ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสำรวจ การนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน 3 จุด คือ บริเวณแยกเวียงดอย - เทศบาลนครนครสวรรค์ บริเวณสนามกีฬา จ.นครสวรรค์ -สะพานเดชาติวงศ์ และ บริเวณแยกพหลโยธิน-สะพานข้ามแม่น้ำปิง ในงบประมาณเบื้องต้นกว่า 1,579 ล้านบาท เพื่อรองรับการเป็นสมาร์ทซิตี้ ของจังหวัดนครสวรรค์
นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินงานจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่ตัวเมืองนครสวรรค์ เพื่อลดปัญหาสายสื่อสารที่รกรุงรัง และเป็นการปรับปรุงทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อม ในเส้นทางวิกฤตในตัวเมืองนครสวรรค์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การนำสายไฟฟ้าลงดินควรต้องดำเนินงานพ่วงเอาสายสื่อสารลงไปด้วยในคราวเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อนกัน เวลาจัดทำงบประมาณจะได้มาทีเดียว กฟภ.มีความรู้อยู่แล้วในการเอาทุกสิ่งทุกอย่างลงดิน ดังนั้นตนเองเชื่อว่าทำได้ ซึ่งฝากทาง บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติด้วย นอกจากนี้เรื่องข้อกฏหมายขององค์การปกครองท้องถิ่น ก็ยังส่งปัญหาต่อการทำงาน
ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า อยากเห็นนครสวรรค์เป็นเหมือนเมืองจีน เพราะเปรียบแล้วเป็นเสมือนลิตเติ้ลไชน่า ดังนั้นจึงควรมีความสว่างไสวสวยงาม บางพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวควรให้มีการประดับและตกแต่งไฟ ส่วนระบบไฟจราจรตามแยกต่าง ๆ ต้องมีการวางระบบอัตโนมัติแบบอัจฉริยะเพื่อควบคุมตามสภาพจราจรที่มีจำนวนมากน้อยของพาหนะ รวมทั้งระบบ IOT ที่ควบคุมระบบไฟส่องสว่างตามเส้นทาง เพื่อประหยัดพลังงานในขณะที่ไม่มีรถยนต์วิ่ง
นอกจากนี้การนำสายไฟฟ้าลงใต้ติน ควรมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าภาพ ในการลงทุนสร้างท่อร้อยสายขนาดใหญ่ เพราะการใช้งานในสายสื่อสารเยอะมาก เชื่อว่าคุ้มทุนแน่นอน แต่กฏเกณฑ์และกติกาของภาครัฐยังไม่ทันสมัย จึงต้องมีการปรับตัวให้รองรับต่อการพัฒนา และเชื่อว่าใน 5-10 ปีนี้ นครสวรรค์จะต้องเจริญอย่างรวดเร็วมาก ดังนั้นจึงต้องรีบดำเนินการบูรณาการให้สอดคล้องกับอนาคต ไม่เช่นนั้นคงช้าไป