จากกรณีที่มีข่าวการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมระหว่างกลุ่มเทเลเนอร์ หรือ ดีแทค และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้ในวันนี้มีส.ส.เสนอญัตติด่วน เพื่อขอมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบต่อประชาชนจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคมและการค้าปลีกดังกล่าว
ความคืบหน้าล่าสุดผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 17 ในวันนี้ที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประชาชนจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคมและการค้าปลีก ซึ่งมีการอภิปรายจากบรรดาส.ส.อย่างกว้างขวาง
นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังธรรมใหม่ อภิปรายตอนหนึ่งว่า กรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมและการค้าปลีก-ค้าส่ง ตลอดจน ผลกระทบจากการขยายตัวของทุนขนาดใหญ่ที่กระทบต่อทุนขนาดกลาง ขนาดเล็ก เกิดการขยายช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย เพื่อหามาตรการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภค และธุรกิจ SME ว่า ปัจจุบันตลาดมือถือไทยมีค่ายหลักอยู่เพียง 3 ค่าย จึงมีลักษณะกึ่งผูกขาดบางส่วนอยู่ ผู้แข่งขันรายใหม่ยากที่จะเข้ามาร่วมแข่งขันได้ แต่อย่างไรก็ยังมีการแข่งขันกันพอควร ก่อให้เกิดการพัฒนาการบริการใหม่ การขยายและเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่ให้บริการ การแข่งขันราคาลดแลก แจกแถม
หากมีการควบรวมเหลือเพียง 2 ค่าย ค่ายใหม่ครองการตลาด 52 ล้าน ค่าย AIS มีลูกค้า 44 ล้าน ซึ่งถือว่าค่ายใหม่จากการควบรวม ครองของการตลาดมากกว่า 50% เมื่อมีการแข่งขันเหลือเพียง 2 ค่ายใหญ่ จะทำให้ตลาดโทรศัพท์มือถือถอยหลังไปก่อนปี 2547 ซึ่งขณะนั้นมีเพียง 2 ค่ายหลักคือ ais และ Dtac ซึ่งคาดว่า จะส่งผลให้มีการลดการพัฒนาการบริการใหม่ ๆ ลง,ลดการขยายพื้นที่ให้บริการ และประสิทธิภาพการให้บริการ,ลดการแข่งขันราคาค่าบริการ อาจส่งผลให้มีค่าบริการแพงขึ้นในอนาคต โดยผู้ที่จะได้รับผลกระทบด้านลบจากการควบรวมกิจการ คือ ผู้บริโภคที่เป็นประชาชนทั่วไปธุรกิจต่างๆที่ต้องใช้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือในการประกอบธุรกิจ
ในปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมให้มีการแข่งขันเสรีในตลาดและป้องกันการผูกขาดทางการค้ามี 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2544 ,พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าปี พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 นอกจากนี้ประกาศ กสทช.ยังมีมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำที่ผูกขาดทั้งทางตรงและทางอ้อม
ในการควบรวมครั้งนี้ ใครได้ ใครเสีย ผู้ที่ได้ประโยชน์โดยตรงคือผู้ประกอบการที่ทำให้ต้นทุนลดลง แต่ผู้เสียประโยชน์ คือ ประชาชนทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นเป้าหมายในการเสนอญัตติคือ การตั้ง กมธ.วิสามัญ เพื่อศึกษาผลกระทบจากการควบรวมกิจการทุกประเภทที่กระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีส.ส.จำนวนมากสนใจที่จะอภิปรายในประเด็นดังกล่าว นายศุภชัย รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งเป็นประธานในการประชุม ระบุดูจากรายชื่อของเพื่อนสมาชิกที่ต้องการอภิปรายมีจำนวนมาก เชื่อว่า คืนนี้ก็ประชุมไม่เสร็จ จึงขอปิดการประชุมเมื่อเวลาประมาณ 18.45 น. พร้อมนัดประชุมต่อในวันพรุ่งนี้ 17 ธันวาคม 2564
ทั้งนี้ สำหรับการเสนอ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประชาชนจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคม และการค้าปลีก ตลอดถึงผลกระทบจากการขยายตัวของทุนขนาดใหญ่ที่กระทบทุนชาวบ้านขนาดเล็กเพื่อหามาตรการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคและทุนชาวบ้าน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กับคณะ เป็นผู้เสนอ
ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประชาชนกรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม 2 ราย คือ True และ DTAC ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อประชาชน มี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เป็นผู้เสนอ ซึ่งเรื่องด่วนข้างต้นเป็นเรื่องที่ค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25ปีที่ 3 ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม 2564)
ขณะที่ในวันนี้มีญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประชาชน กรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมและการค้าปลีก-ค้าส่ง เพื่อหามาตรการคุ้มครองประชาชนโดยเร่งด่วน มี นายระวี มาศฉมาดล เป็นผู้เสนอ และญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มี นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล กับคณะ เป็นผู้เสนอ
ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบที่มีต่อประชาชนและผู้บริโภค กรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเทเลนอร์ หรือ ดีแทค นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ เป็นผู้เสนอ
ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประชาชนจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคมและการค้าปลีกและการขยายตัวของทุนขนาดใหญ่ที่กระทบต่อทุนขนาดเล็กเพื่อหามาตราการคุ้มครองผู้บริโภคและทุนขนาดเล็ก นายกูเฮง ยาวอหะซัน เป็นผู้เสนอ
และญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประชาชน เรื่อง กรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม 2 ราย คือ True และ DTAC ลดการผูกขาดระหว่างเครือข่ายโทรคมนาคม นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง เป็นผู้เสนอ
สำหรับระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม 2564 Click ที่นี่