เปิดวาระสภา ชงตั้ง กมธ. แก้ กม.ควบรวมกิจการ ปม ดีแทค-ทรู แม็คโคร-โลตัสส์

16 ธ.ค. 2564 | 02:32 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ธ.ค. 2564 | 10:11 น.

เปิดวาระสภาวันนี้ จับตาการยื่นญัตติด่วน ชง ตั้งกรรมาธิการแก้กฎหมายควบรวมกิจการ ปม ดีแทค-ทรู แม็คโคร-โลตัสส์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ต้องจับตาประเด็นการควบรวมกิจการขนาดใหญ่ ทั้งค้าปลีก ค้าส่ง และธุรกิจโทรคมนาคม ที่มีประเด็นต่อเนื่องมาจากการควบรวมของ แม็คโครกับโลตัสส์ และทรูกับดีแทค ที่จะมีญัตติด่วน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 ในวันนี้

เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประชาชน จากการควบรวมกิจการโทรคมนาคม และการค้าปลีก ตลอดถึงผลกระทบจากการขยายตัวของทุนขนาดใหญ่ที่กระทบทุนชาวบ้านขนาดเล็ก เพื่อหามาตรการคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคและทุนชาวบ้าน มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กับคณะ เป็นผู้เสนอ 

ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประชาชนกรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม ๒ ราย คือ True และ DTAC ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อประชาชน มี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เป็นผู้เสนอ 

ทั้งนี้เรื่องตามระเบียบวาระเรื่องด่วนข้างต้นเป็นเรื่องที่ค้างมาจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25ปีที่ 3 ครั้งที่ 12 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม 2564)

นอกจากนี้ยังมีญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประชาชน กรณีการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมและการค้าปลีก-ค้าส่ง เพื่อหามาตรการคุ้มครองประชาชนโดยเร่งด่วน มี นายระวี มาศฉมาดล เป็นผู้เสนอ  

และญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) มี นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล กับคณะ เป็นผู้เสนอ

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังธรรมใหม่ ระบุว่า เป้าหมายของญัตตินี้คือการตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค และการควบรวมแมคโคร-โลตัสส์ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย เบื้องต้นมีพรรคการเมืองทั้งหมด 7 ส.ส. ทั้งพรรคประชาธิปปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคประชาชาติ และพรรคพลังธรรมใหม่ เนื่องจากไม่มั่นใจว่าการควบรวมกิจการจะเป็นผลดีกับใคร แต่มองว่าจะเกิดผลเสียกับประชาชน

 

จึงได้มีการยื่นญัตติด่วนเข้าสภา เพื่อให้มีการตั้งกรรมาธิการศึกษาผลกระทบ หากพบว่ากฎหมายมีข้อบกพร่องก็จะมีการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขออกมา ส่วนเป้าหมายรองคือต้องการเชิญคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมการว่าถ้ามีกฎหมายที่ชัดเจนพอสมควร แต่การตัดสินไม่เป็นไปบนหลักผลประโยชน์ของชาติ ผู้ที่กำกับดูแลไม่ดำเนินการก็จะยื่นถอดถอน หรือยื่น 157

ที่มา : เว็บไซ์สภาผู้แทนราษฎร