การลงทุนในไทยอีกหนึ่งเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 1,273 โครงการ เพิ่มขึ้น 23% มูลค่าลงทุน 5.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดิมทั้งปีนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คาดมูลค่าการขอรับการส่งเสริมจะอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าทะลุเป้าหมายไปแล้ว ล่าสุดบีโอไอเล็งทั้งปีนี้จะมีมูลค่าขอรับการส่งเสริมมากกว่า 6 แสนล้านบาท และในปี 2565 จะยังขยายตัวต่อเนื่อง
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการบีโอไอ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป้าหมายการขอรับการส่งเสริมในปี 2565 ในเบื้องต้นจะมากกว่า 6 แสนล้านบาท แต่จะเป็นเท่าใดนั้นจะได้มีการหารือกับเลขาธิการบีโอไอก่อน ขณะที่ในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วาระสำคัญส่วนใหญ่เป็นการเสนอขยายเวลาอายุมาตรการที่จะหมดอายุในสิ้นปีนี้ (เช่น สิทธิประโยชน์เฉพาะให้กับผู้ลงทุนในอีอีซี) และการเสนอให้ประกาศบางพื้นที่เป็นเขตวิทยาศาสตร์และะเทคโนโลยีเพิ่มเติม ขณะที่ภาพรวมตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งปี 2564 จะทราบผลสรุปประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2565
อย่างไรก็ดี แผนงานของบีโอไอในปี 2565 ในเรื่องการบุกเจาะตลาดต่างประเทศ จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บีโอไอ ได้ปรับรูปแบบกิจกรรมมาเป็นออนไลน์เป็นหลัก และให้สำนักงาน บีโอไอ ในต่างประเทศทั้ง 16 แห่ง เป็นด่านหน้าในการดึงนักลงทุนเป้าหมาย เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น บีโอไอได้วางแผนเตรียมการเดินทางโรดโชว์ในปีหน้า โดยเน้น 7 กลุ่มประเทศที่เป็นผู้ลงทุนหลักในไทย เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมทั้งโซนยุโรป นอกจากนี้การที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงศักยภาพให้โลกรู้ว่า ไทยมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนของภูมิภาค และเป็นโอกาสดีที่จะดึงการลงทุนจากประเทศสมาชิกเอเปคด้วย
ขณะที่ทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในปีหน้าจะเน้นสร้างการขยายตัวของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการผลักดันการลงทุนที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเน้นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะกลุ่ม BCG (Bio-Circular-Green Economy ที่เป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน) และการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจริยะ ดิจิทัล ออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ อากาศยานและชิ้นส่วน เครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
รวมทั้งการส่งเสริมสตาร์ทอัพ ทั้งในกลุ่มดิจิทัล และเทคโนโลยีขั้นสูง(Deep Tech) การส่งเสริมให้ไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) ศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) การส่งเสริมพื้นที่นวัตกรรมต่าง ๆ เช่น เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งใหม่ ๆ ย่านนวัตกรรมการแพทย์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(NIA) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA), สอวช., สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร
“นอกจากนี้ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 บีโอไอได้เตรียมจัดงานมหกรรม BCG Startup Investment Day ซึ่งจะเป็นงานใหญ่ครั้งแรกที่รวมกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูงในสาขา BCG มานำเสนอแผนธุรกิจ พร้อมพบปะกับนักลงทุนชั้นนำ มีทั้ง VC (Venture Capital) และVC (CorporateVenture Capital) ไทยและต่างประเทศ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กองทุนต่าง ๆ และศูนย์บ่มเพาะระดับโลก เพื่อได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมาตรการสนับสนุนต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความความสามารถของสตาร์ทอัพให้แข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและระดับโลก”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุน ไทยปี 2565 มีโอกาสขยายตัวมากกว่าปี 2564 มีปัจจัยบวกจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังคงมีอยู่ ส่งผลให้มีการย้ายฐานการลงทุนจากจีนมาไทยมากขึ้น รวมถึงความตกลง RCEP ที่จะมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.2565 ทำให้การลงทุนในไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น
ขณะเดียวกันจากที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค และประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอปค(ABAC) ในปีหน้า จะเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ไทยจะใช้โอกาสในนี้ในการโปรโมทเพื่อดึงนักลงทุน และการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น และจากภาคการส่งออกของไทยที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง และการผลักดันเรื่อง BCG ที่เป็นเทรนด์ของโลก จะมีผลต่อการขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเพื่มขึ้น
“การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยปีหน้ามีโอกาสโตขึ้น แต่จะโตขึ้นเท่าไรนั้น คงต้องรอดูภาวะการเติบโตเศรษฐกิจโลกเป็นองค์ประกอบ รวมถึงการเจรจาการค้า และจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ใหม่ ๆ ของไทย จะเป็นปัจจัยดึงดูดการลงทุน ซึ่งตัวเลขการขอรับการส่งเสริมปีหน้าที่ 7 แสนล้านบาทก็มีโอกาสเป็นไปได้”
สอดคล้องกับนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่กล่าวว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2565 มีทิศทางการขยายตัวต่อเนื่อง มีปัจจัยบวกสำคัญจากการเปิดประเทศ เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ หลังสถานการณ์โควิด ซึ่งต่างชาติสนใจมากที่จะมาลงทุนในไทย ขณะที่ไทยมีมาตรการดึงดูดการลงทุนที่ดีโดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) เช่น เรื่องวีซ่าพำนักในระยะยาว รวมถึงการดึงชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่มเข้าสู่ประเทศไทย
“ปี 2565 ในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค จะเป็นประโยชน์ในการโปรโมทดึงการลงทุน ซึ่งรัฐบาลไทยชูเรื่อง BCG ในการดึงการลงทุนใหม่ ๆ ซึ่ง Ecosystem เราดีอยู่แล้ว เช่นรัฐบาลส่งเสริมพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า แสดงให้เห็นถึงประเทศไทยเราเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนรับเทรนด์ใหม่ของโลก”นายสนั่น กล่าว
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. มองว่า การลงทุนไทยปี 2565 ยังขยายตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี รวมถึงไทยยังได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานของนักลงทุนต่างชาติที่ย้ายออกจากจีนเพื่อลดผลกระทบ สงครามการค้า และนักลงทุนจีนเองก็มีแนวโน้มลงทุนไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตาในปีหน้าคือ ความตึงเครียดจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น จีนกับไต้หวัน รัสเซียกับยูเครน อิหร่านกับอิสราเอล และโควิดสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” และสายพันธุ์อื่น ๆ ที่กำลังมีพัฒนาการอาจทำให้การลงทุนชะงักงัน หรือไม่ลื่นไหลนัก แต่เบื้องต้นคาดมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากปีนี้ประมาณ 10% หรือจะอยู่ระหว่าง 6-7 แสนล้านบาท
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3741 วันที่ 19-22 ธันวาคม 2564