จากการที่ด่านของจีนมีมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโควิด(Zero Covid) ที่อาจติดมากับการขนส่งสินค้าผ่านห่วงโซ่ความเย็นที่เข้มงวดส้งผลต่อการบริหารจัดการรถบรรทุกสินค้านำเข้าและส่งออกผ่านด่านโหย่วอี้กวน และด่านตงซิง เขตฯ กว่างซีจ้วง ทำให้ปริมาณรถผ่านเข้าออกลดลงจากเดิมมาก และมีรถติดสะสมหน้าด่านจำนวนมาก
ทั้งนี้ จากมาตรการของด่านทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการผ่านด่านมากกว่าช่วงปกติ ส่งผลให้ปริมาณรถเข้า-ออกด่านลดลงจากช่วงปกติกว่า 50% ส่งผลต่อส่งผลต่อการส่งออกผลไม้ของไทยเป็นอย่างมาก ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจากประเทศเวียดนามแล้ว นั้น
นายศิริไพบูลย์ วัฒณวงศ์ชัย สมาชิกสภาเทศบาลตำบลคลองหาด จังหวัดสระแก้ว และในฐานะตัวแทนกลุ่มชาวสวนและผู้ประกอบการรับซื้อลำใยเพื่อการส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากที่สำนักงานใหญ่ของกลุ่มผู้นำด้านการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในเมืองตงชิง ประกาศ ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2564 "ปิดด่านตงซิง" ไม่มีกำหนด
กระทบแน่นอนทั้งเกษตรกรและล้ง ทำให้สถานการณ์ราคาตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ล้งเองก็ไม่กล้าที่จะรับซื้อ เพราะซื้อไปแล้วส่งออกลำบากขึ้นส่วนด่านบ่อหานก็ให้เข้าแค่วันละ 5-10 ตู้ ใช้คำเรียกว่า “ทดลองนำเข้า” อ้างตรวจโควิด แต่ปริมาณลำไยที่ส่งออกไป รวมผลไม้ไทยชนิดอื่นมีเป็นกว่า 100 ตู้
“อยากกระทุ้งให้รัฐบาล กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เจรจากับรัฐบาลจีน ช่วยเจรจาให้สามารถผ่านสินค้าคล่องตัวขึ้น เนื่องจากการที่ไปติดหน้าด่านเป็นเวลานานทำให้ลำไยเสียหาย เกิน 30 วัน ทำให้ลำไยงอกราก เพราะแช่เป็นเวลานาน พอผ่านด่านสินค้าเข้าไปได้ ก็ขายไม่ได้ ไม่มีคนซื้อ”
จากเมื่อในอดีตใช้เวลาแค่ 3-4 วัน ก็ขายได้เลย แต่ช่วงนี้ไปแช่อยู่ที่ด่าน 30 วัน พอด่านปิดก็ต้องลากตู้กลับ หรือไม่ก็เปลี่ยนหาด่านใหม่ที่จะส่งออก ไปรอคิวที่ด่านใหม่ก็ไม่รู้ว่าคิวได้เข้าด่านเมื่อไร นี่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นเกิดความกลัว ปัญหาทางเรือตู้คอนเทรนเนอร์ไม่เพียงพอ บางล้งต้องจอง ระยะเวลานาน และไม่มีกำหนดด้วย ต่างจากเมื่อก่อน จองแล้วรู้เลยว่า 3-4 วัน จะได้ส่ง แต่วันนี้จองไปแล้ว ถ้ามีถึงจะแจ้งให้ทราบ นี่คือทางเรือ ส่วนใหญ่พ่อค้าไม่นิยมไปเพราะใช้ระยะเวลานานในการขนส่ง
“การที่อ้างแต่เรื่องโควิดติดในตู้ผลไม้ แต่ส่วนตัวก็สงสัยว่าทำไมทางเรือถึงไม่ติดโควิด ตรวจไม่เจอเลย ตั้งใจจะบีบให้ไปทางเดียวหรือไม่ นี่เป็นกลเกมอะไรหรือไม่ เพราะถ้าของไปถึงเร็ว ลำไย หรือ ผลไม้ ที่ส่งไปจะมีรสชาติความอร่อยก็จะดีกว่า แต่นี่ของแช่เย็น ใช้เวลานานไปความอร่อยก็จะลดน้อยลง หรือไม่มี ส่วนค่าระวางเรือ ในอดีต 1 แสนบาท ปรับขึ้นไป 2.6 แสนบาท
นายศิริไพบูลย์ กล่าวว่า สถานการณ์วันนี้ล้งหยุดซื้อแล้ว รอดูสถานการณ์ก่อน แต่มั่นใจว่าลำไย ยังมีความต้องการตลาดสูง เป็นผลไม้ที่เป็นมงคล ในช่วงปีใหม่ ตรุษจีน ความจริงในตอนนี้เหลือลำไย ประมาณ 30% ควรจะได้ราคาที่ดีขึ้น กลับไม่ได้จึงส่งผลกระทบต่อชาวสวนในขณะนี้ ล้งก็ไม่ฉีกสัญญา แต่จะทิ้งสวนกัน ก็คือ เก็บเฉพาะสัญญา เพราะถ้าเก็บไปหมด แต่ไม่มีตู้ใส่ก็เกิดปัญหา เพราะใน 1 วัน ล้งไม่ได้เก็บสวนเดียว มีสัญญา 20-30 สัญญา หรือไม่อาจทยอยเก็บ นี่คือจากปัญหาการส่งออกด่านปิด และการไม่มีตู้สินค้า
“การปิดด่าน คำสั่งปิดกะทันหัน ไม่ใช่ประกาศแจ้งล่วงหน้า ตรงนี้อยากให้รัฐบาลเข้าใจและเร่งช่วยเจรจา อย่างน้อยให้ล้ง พ่อค้า ผู้ประกอบการได้ตั้งตัว บางทีลากตู้ไปแล้ว ไปเจอด่านปิด ต้องลากตู้กลับก็เสียค่าใช้จ่าย เป็นความเสี่ยงไม่มั่นคง ผู้ประกอบการก็จำเป็นที่จะต้องซื้อตามค่าความเสี่ยง หากซื้อไว้ถูก โอกาสขาดทุนก็มีน้อย ดังนั้นหากทางบกเปิดแก้ปัญหาได้หมด รัฐบาลต้องเร่งเจรจาด่วนที่สุด หรือไม่ก็ต้องมีมาตรการอะไรตอบโต้บ้าง
"การต่อรองควรจะมีบ้าง เพราะเราค้าขาย เพราะถ้าเกรงใจเรา ก็คงจะไม่ทำกับเราแบบนี้ ผลกรรมตกอยู่กับเกษตรกร หากขายลำไยได้ราคา ต่ำกว่า 20 บาท/กก. ขาดทุน หน้าสวนอยู่ประมาณ 15-18 บาทต่อกิโลกรัม นี่ถือว่าราคาดีขึ้นมานิดเดียว ก่อนหน้านี้ราคาหน้าสวน 2 บาท/กก. หนีหันมาขายให้ขายผลสดมัดกำ หรือที่เรียกกันว่ามัดปุ๊ก หรือเรียกแบบกำปุ๊ก กำฟาด หรือจัดใส่ตะกร้าขาย ดีกว่าขายไม่มีราคา"
นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าผลไม้และส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า มีผลไม้ ผัก เข้ามาอีกแล้ว 69 ตู้ 2 ขบวน มีลิตส์รายชื่อ อะไรบ้างที่จะนำเข้า บรรทุกขบวนรถไฟไทยจีนลาว ตามหลักไม่น่าที่จะเข้าได้ แล้วรถไฟที่ลากตู้มา โดยพ่อค้าจีนลงไป แล้วตู้พวกนี้เมื่อลากมาแล้วหายไปไหน ไปกองไว้ที่ไหน กลับไปจริงหรือไม่
"หลังกุมภาพันธ์ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แจ้งว่าไทยจะได้ส่งออกนั้น วันที่เท่าไร และถ้าหลังกุมภาพันธ์ไปแล้ว จนถึงธันวาคมปีหน้า ตอนนี้ฝ่ายรัฐบาลไทยยังไม่เชื่อนะ ยังพูดแทนฝ่ายจีนอยู่ แล้วมาห้ามอย่าทำให้ตื่นเต้น ห้ามอย่างโน้นนี้ แล้วจะมาห้ามได้อย่างของเข้ามาอีกแล้ว"
นายสัญชัย กล่าวว่า มีเลขตู้เข้ามาแล้ว ตามหลักเส้นทางนี้ยังไม่ควรเปิดให้ผัก และผลไม้ เข้า เราเข้าไม่ได้ เขาก็ไม่ควรจะเข้ามา ใช้ทางรถไฟก่อนเรา หมายความว่าอย่างไร ส่วน ล็อตแรก 33 ตู้ บอกว่า ทดลอง แต่ 69 ตู้ แจ้งว่าโปรโมทประชาสัมพันธ์ “รถไฟจีน -ลาว” มาแบบนี้ประเทศชาติเสียหายจริงแล้ว
“ตอนนี้จีนทดลองปิดด่านเราทุกด่านแล้ว ดูแล้วเราจะร้องอย่างไร ขณะเดียวกันอีกด้านก็เปิดด่านเข้ามาประเทศไทย ทำคู่กันไป ปรากฎว่ารถไฟมาได้ จบแล้ว แล้วเราขึ้นไม่ได้ ผลไม้จากจีนปกติมาทางเรือ พอรถไฟจีนลาว เปิด แห่ไปขึ้นรถไฟกันหมดแล้ว จะทำอย่างไร ต้องเอาพิธีสารมากางดู ว่าไทยได้ประโยชน์หรือไม่ ”
ด้านสมาคมทุเรียนไทย ยื่นหนังสือถึง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้อเสนอมาตรการเร่งด่วนการแก้ไขปัญหาการส่งออกทุเรียน เนื่องด้วยฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกประจำปี 2565 กำลังจะมาถึงในอีก 3 เดือน (มีนาคม) ซึ่งผลไม้โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งนับได้ว่าเป็นผลไม้ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด โดยในปี 2564 เฉพาะ 10 เดือนแรก (มกราคมถึงตุลาคม) มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 109,420 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกปลายทางอยู่ที่ประเทศจีนกว่า 90%
ปัจจัยที่เป็นผลกระทบต่อเนื่องในปี 2564 และคาดว่าในปี 2565 ยังคงมีผลอยู่คือ การระบาดโควิด-19 ที่เป็นอุปสรรคในการขนส่งระหว่างประเทศ โดยการขนส่งนั้นได้มีการยกระดับมาตรการคุมเข้มในการตรวจเชื้อบริเวณด่านการนำเข้าทั้งทางบก เรือ และอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้มาตรการในแต่ละด่านยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกมีความยากลำบากในการส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ทุเรียนที่กำลังจะถึงนี้ คาดว่าจะมีตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 1,000 ตู้ต่อวัน (รวมมังคุด) ในช่วงที่ผลไม้กระจุกตัว ดังนั้นการตรวจโควิดที่เข้มงวดในการนำเข้าสินค้าของประเทศจีนจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์ทั้งทางบกและทางเรือ จากปัจจัยหลักความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของ "โควิด-19" ในประเทศ และการไม่มีมาตรการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศที่คู่ค้าที่สำคัญอย่างประเทศจีน
สมาคมทุเรียนไทย จึงขอเสนอมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังนี้
1. เสนอให้มีการจัดทำคู่มือการผลิตทุเรียนที่ปลอดภัยตั้งแต่ในแปลงปลูก การเก็บเกี่ยว การแพ็คบรรจุ จนถึงการขนส่ง ให้เป็นแนวทางในการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส โควิด-19 ตามมาตรฐาน Food and Agricultural Organization of the United Nations (FAO-UN) โดยสมาคมทุเรียนไทย ได้ศึกษาแนวทางมาตรฐานของ FAO/UN
รวมถึง Practical Guide for the prevention and mitigation of Covid-19 in agriculture ของ International Labour Organization (ILO) และ afeguarding agriculture workers from Covid-19 ของ Caribbean Agricultural Research and Development (CARDI) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการร่างมาตรการ ดำเนินงานประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน และผลักดันให้เป็นมาตรการเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป
2. การนำเข้าแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหาย ปลอดภัยตามหลักการป้องกันโควิด-19 และเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการในห่วงโซ่ทุเรียนทั้งหมดในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต
3. การวิจัยเพื่อสนับสนุนข้อมูลการแก้ปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) จะมีการพัฒนาโครงการวิจัยในการจัดการบริหารความเสี่ยงในทุกกระบวนการของการผลิตทุเรียน ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวจนกระทั่งการขนบรรจุบนตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนและวิธีกำจัดของ "เชื้อโควิด-19" ทั้ง "เชื้อเป็น" และ "เชื้อตาย"
โดยกระบวนการทั้งหมดต้องผ่านการรับรองมาตรฐานของ FAO/WHO ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และมีความปลอดภัยด้านอาหารจากมาตรการและวิธีการปฏิบัติงานดังกล่าวนี้ ทางสมาคมทุเรียนไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับการสนับสนุนและเร่งนำไปปฏิบัติ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผลไม้ และสินค้าในภาคเกษตรของประเทศไทยต่อไป
อัพเดทสถานการณ์ผลไม้ไปจีน ล่าสุด
ผู้โพสต์ใช้ชื่อ Yapaka Yapaka อัพเดท สถานการณ์ล่าสุด "ผลไม้ไทย" ถ้าจีนไม่เปิดด่านแย่ๆๆแน่ๆๆผลไม้ไทยทุเรียนตู้ละ 4-5ล้าน ขายได้3 แสน ขาดทุนเท่าไหร่ขนุนไปจีนเข้าด่านไม่ได้ขายให้เวียดนามได้โลละ1หยวน แย่สิแบบนี้ เมื่อวานด่านตงชิน ปิดอีก ไปได้แต่ตู้เรือ ตู้เรือค่าขนส่งจาก7หมื่น-1แสนบาท พอมีแบบนี้ฉวยโอกาสขึ้น เป็น180,000-220,000 ขึ้นเท่าตัวเลย