แผนฯ 13 เล็งผลเลิศ ดันรายได้เกษตรกร พุ่ง 5.37 แสนต่อครัวเรือน

24 ธ.ค. 2564 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ธ.ค. 2564 | 00:38 น.

สภาพัฒน์ ยอมรับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ล้มเหลว ดันร่าง ฉบับที่ 13 ฝันยกระดับรายได้ภาคเกษตร 5.37 แสนบาทต่อครัวเรือน/ปี เพิ่มพื้นที่เกษตรยั่งยืน 10 ล้านไร่ สมาคมชาวนาฯ ติงไม่ควรเหมาแข่ง ดัน “ข้าวรักษ์โลก” ขาณุโมเดล 2 พันไร่ ตอบโจทย์ยั่งยืน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) หรือ “สภาพัฒน์” มีภารกิจสำคัญประการหนึ่งคือการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 –2565) ที่จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565

 

โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 เป็นเสมือนก้าวที่ 2 ของการวางรากฐานการพัฒนาประเทศในระยะยาวตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

แหล่งข่าวจาก สศช.  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การพัฒนาของประเทศไทยในช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป็นสภาวะที่ประเทศต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการและอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสถานการณ์ที่มีความผันแปรสูงทั้งจากปัจจัยภายในและนอกประเทศ และผลจากความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งในวิถีการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้คน การเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ส่งผลต่อกำลังแรงงานในอนาคต

 

นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่มีความผันผวนรุนแรง ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศมหาอำนาจ เมื่อผนวกเข้ากับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วโลก ส่งผลให้การดำเนินงานตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในหลายมิติไม่สามารถบรรลุผลได้ตามเงื่อนเวลาที่กำหนด

 

อาทิ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำสุดในรอบ 22 ปี โดยเศรษฐกิจไทยในภาพรวมปี 2563 หดตัวลง 6.1% จากที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 และ 2.1 ในปี 2561 และปี 2562 ตามลำดับ

 

ส่วนภาคเกษตร แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มของภาคการเกษตรต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 11.5 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.1ในปี 2561 แต่ภาคการเกษตรยังคงมีสัดส่วนการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 30.2 ของการจ้างงานทั้งหมดของประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของภาคการเกษตรที่ยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักของประชากรจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มกับสัดส่วนการจ้างงานในภาคการเกษตร กลับพบว่าผลิตภาพของแรงงานในภาคการเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับภาคการผลิตอื่น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรจำนวนมากยังมีฐานะยากจน

 

เปิดร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

 

 

การพัฒนาภาคการเกษตรที่ผ่านมา เน้นการผลิตเพื่อการส่งออกและการเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ผ่านการขยายพื้นที่เพาะปลูก การพัฒนาปัจจัยการผลิตให้มีคุณภาพ การพัฒนาและใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้ในระดับหนึ่ง

 

"โดยในปี 2562 จีดีพีของภาคการเกษตรและการแปรรูปที่เกี่ยวข้อง มีมูลค่า 1,477,589 ล้านบาท ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม มีมูลค่ารวมคิดเป็นร้อยละ 74.5 ของจีดีพีภาคการเกษตรและการแปรรูปที่เกี่ยวข้องปี 2562”

สำหรับในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 (2566-2570) มีเป้าหมายมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปสูงขึ้นเมื่อสิ้นสุดแผนฯ อาทิ จีดีพีสาขาเกษตรเติบโต ร้อยละ 4.5 ต่อปี (จากปี 2562 (-0.6%) ปี 2563 (-3.6%)ส่วนปี 2564 ในวันที่ 23 ธ.ค.นี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) จะประกาศตัวเลขจีดีพีภาคเกษตร

 

ล่าสุดยังไม่สรุปข้อมูล โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 13  ตั้งเป้ารายได้สุทธิต่อครัวเรือนเกษตรกร ไม่ต่ำกว่า 5.37 แสนบาทต่อครัวเรือนต่อปี (ปัจจุบันเฉลี่ย 3 แสนบาทต่อครัวเรือน), พื้นที่เกษตรยั่งยืน 10 ล้านไร่ (ปัจจุบัน กว่า 1.7 ล้านไร่)   เป็นต้น (กราฟิกประกอบ)

 

สานิตย์ จิตต์นุพงษ์

 

ด้านนายสานิตย์  จิตต์นุพงศ์ ประธานยุทธศาสตร์ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ในวันที่ไปร่วมรับฟังความคิดเห็นแผนฯ13 ได้แนะนำว่าอย่าอยู่แต่ในห้องแอร์ให้ลงพื้นที่จริง เพราะพืชเกษตรแต่ละชนิดมีอัตลักษณ์แตกต่างกัน และการเพาะปลูกพืชแต่ละภูมิภาคก็แตกต่างกัน ดังนั้นจะต้องเป็นโมเดลเฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่แก้โจทย์ปัญหาในรูปแบบบัญญัติไตรยางค์แบบเหมาเข่งไม่ได้

 

“ขณะนี้ทางสมาคม มีการนำร่อง “ขาณุโมเดล” จังหวัดกำแพงเพชร รูปแบบข้าวรักษ์โลก นำร่อง 2,000 ไร่ จากทั้งหมด 1.8 หมื่นไร่ โดยผลักดันการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน (Sustainable Rice Platform หรือ SRP) กล่าวคือการผลิตที่ไม่ทำลายทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้ที่น่ากลัวคือ ชาวนาเวียดนามได้ปรับในเรื่องนี้แล้ว นี่คือสิ่งที่ชาวนาไทย 4.6 ล้านครัวเรือนต้องเร่งปรับตัวให้ทันต่อเทรนด์โลก” นายสานิตย์ กล่าว

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,742 วันที่ 23-25 ธันวาคม พ.ศ. 2564