เปิดแผน“บีโอไอ” ปี 65 ฝ่าด่านโอมิครอน ยัน 2 ปีลงทุนจริงแล้วกว่า 1.3 ล้านล้าน

26 ธ.ค. 2564 | 07:31 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2565 | 19:55 น.

บีโอไอเปิดแผนลุยปี 65 หลังปี 64 ลงทุนไทยมีสัญญาณบวกชัดเจน ขณะขอรับส่งเสริมช่วงปี 2560-2562 มีการลงทุนจริงแล้วกว่า 1.3 ล้านล้านบาท ปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ช่วง 9 เดือนแรก มูลค่าขอรับส่งเสริมกว่า 5 แสนล้าน เพิ่มกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

นายนฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 ที่มีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 520,680 ล้านบาท ถือว่าสูงกว่าปี 2563 ทั้งปี (432,000 ล้านบาท) และสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดช่วงปี 2558-2562 (483,660 ล้านบาท)  โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 การลงทุนยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง ดังนั้นคาดว่าทั้งปี 2564 จะมีคำขอรับการส่งเสริมมากกว่า 6 แสนล้านบาท

 

สอดคล้องกับตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ ที่คาดการณ์ว่าทั้งปี 2564 การลงทุนภาคเอกชนจะบวกร้อยละ 4.3 เทียบกับปี 2563 ที่ติดลบร้อยละ 8.4  ส่วนตัวเลขกระทรวงพาณิชย์ การนำเข้าสินค้าทุน ในช่วง 10 เดือนแรก ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 41 และการส่งออก เมื่อหักน้ำมัน ทองคำและยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 19.6 เป็นสัญญาณการเติบโตที่ดีของภาคการผลิต

 

เปิดแผน“บีโอไอ” ปี 65 ฝ่าด่านโอมิครอน ยัน 2 ปีลงทุนจริงแล้วกว่า 1.3 ล้านล้าน

 

สำหรับตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมของบีโอไอ ในช่วง 9 เดือนแรก อุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนสูงสุด คือ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 77,210 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ Smart Devices เป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตและความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่สูงขึ้น  อุตสาหกรรมการแพทย์ 59,210 ล้านบาท เป็นผลจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้ความต้องการอุปกรณ์การแพทย์และเวชภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะถุงมือยางทางการแพทย์  ถัดมาเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์  36,760 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร 31,660 ล้านบาท  

 

นอกจากนี้ กลุ่มกิจการด้านสาธารณูปโภคและโลจิสติกส์ ก็มีการลงทุนสูงมากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เช่น กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า 156,440 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยร้อยละ 45 เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ  กิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม 36,550 ล้านบาท  และกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า 20,070 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม   

 

แต่ถ้ามองในแง่จำนวนโครงการ กิจการที่มีผู้สนใจขอรับการส่งเสริมมากที่สุด คือ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 379 โครงการ รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร 151 โครงการ กิจการดิจิทัล 126 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการให้บริการด้านดิจิทัล 

 

เปิดแผน“บีโอไอ” ปี 65 ฝ่าด่านโอมิครอน ยัน 2 ปีลงทุนจริงแล้วกว่า 1.3 ล้านล้าน

 

สำหรับการขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ (FDI) ช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 มีเงินลงทุน 372,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติเชื่อมั่นในประเทศไทย อีกทั้งมีบริษัทจำนวนมากย้ายฐานการผลิตเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และยังมีกลุ่มที่ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพื่อลดความเสี่ยงจาก Supply Chain Disruption เพราะประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี อุตสาหกรรมสนับสนุนมีความพร้อม ระบบสาธารณูปโภคและบุคลากรมีคุณภาพ และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตั้งฐานธุรกิจระยะยาว โดยประเทศที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น 67,816 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 26,936 ล้านบาท สิงคโปร์ 26,882 ล้านบาท จีน 23,709 ล้านบาท และไต้หวัน 15,871 ล้านบาท 

 

ขณะที่การลงทุนของคนไทยก็เติบโตมาก ใน 9 เดือนแรก โครงการที่ไทยถือหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวน 621 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 71 เงินลงทุนรวม 119,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51 ส่วนใหญ่เป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เกษตรและอาหาร ธุรกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมสนับสนุน เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 348 โครงการ เงินลงทุนรวม 173,780 ล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 33 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ใน 3 อุตสาหกรรมที่เป็นคลัสเตอร์หลักในพื้นที่ EEC คือ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน โดยต่างชาติที่ลงทุนในพื้นที่ EEC มากที่สุด คือ ประเทศญี่ปุ่นและจีน

 

เปิดแผน“บีโอไอ” ปี 65 ฝ่าด่านโอมิครอน ยัน 2 ปีลงทุนจริงแล้วกว่า 1.3 ล้านล้าน

 

นอกจาก 3 จังหวัดในภาคตะวันออก(ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา)ที่เป็นพื้นที่ EEC แล้ว  ภูมิภาคอื่นที่มีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมจำนวนมาก คือ ภาคใต้ 166,670 ล้านบาท เพราะมีโครงการใหญ่ที่ลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้า นิคมอุตสาหกรรม และการผลิตถุงมือยาง  รองลงมาคือ ภาคกลาง 92,940 ล้านบาท เพราะมีโครงการใหญ่ในกิจการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์เซอร์วิส และโรงแรม  นอกจากนี้ โครงการที่ขอรับการส่งเสริมจะตั้งในพื้นที่นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม จำนวน 301 โครงการ เงินลงทุนสูงถึง 219,980 ล้านบาท หรือร้อยละ 42 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งเป็นทิศทางที่ดี เพราะการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมจะมีประสิทธิภาพกว่าโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทั่วไป

 

นอกจากการส่งเสริมโครงการลงทุนใหม่แล้ว บีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเดิมลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น  ในช่วง 9 เดือนแรก มีจำนวน 134 โครงการ เงินลงทุน 14,806 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการใช้เครื่องจักรทันสมัยและระบบอัตโนมัติ รองลงมาคือ การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต

 

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า โครงการที่ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ เกือบทั้งหมดมีความตั้งใจที่จะทำจริง เพราะผ่านการศึกษา วางแผน และปรึกษาหารือกันหลายครั้งก่อนตัดสินใจยื่นคำขอ โดยส่วนใหญ่จะมีการลงทุนเกิดขึ้นจริงภายใน 2-3 ปี นับตั้งแต่ออกบัตรส่งเสริม  จากการติดตามโครงการลงทุนที่ยื่นคำขอในแต่ละปี พบว่าคำขอที่ยื่นในช่วงปี 2560-2562 จำนวน 4,506 โครงการ มีการออกบัตรส่งเสริมแล้ว 3,983 โครงการ ในจำนวนนี้ ได้เริ่มลงทุนจริงแล้ว 3,629 โครงการ หรือร้อยละ 91 ของโครงการที่ออกบัตรทั้งหมด

 

เปิดแผน“บีโอไอ” ปี 65 ฝ่าด่านโอมิครอน ยัน 2 ปีลงทุนจริงแล้วกว่า 1.3 ล้านล้าน

 

“โครงการที่ยื่นขอในช่วงปี 2560-2562 จำนวน 4,506 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุน 1.68 ล้านล้านบาท  มีการออกบัตรส่งเสริมแล้ว 3,983 โครงการ (1.36 ล้านบาท)  ในจำนวนนี้ ได้เริ่มลงทุนจริงแล้ว 3,629 โครงการ (เงินลงทุนรวม 1.30 ล้านล้านบาท) ซึ่งโครงการที่ได้รับการส่งเสริมที่ผ่านมาจะทยอยลงทุน จะไม่ใช่ลงทุนทั้งก้อนพร้อมกัน”

 

สำหรับทิศทางแนวโน้มการลงทุนไทยในปี 2565 ในเบื้องต้นทางบีโอไอยังไม่ได้กำหนดเป้าหมายการขอรับการส่งเสริม ซึ่งคงรอให้ได้ข้อสรุปภาพรวมการขอรับการส่งเสริมทั้งปี 2564 ที่จะรวบรวมแล้วเสร็จและมีการแถลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก่อน อย่างไรก็ดีปีหน้าจะเป็นช่วงเวลาสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยการลงทุนเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่จะมีบทบาทช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงมากขึ้น เพราะการลงทุนจะทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมาอีกมาก ทั้งการจ้างงาน การก่อสร้าง การซื้อเครื่องจักร วัตถุดิบ การผลิตสินค้าส่งออก รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างนวัตกรรม และพัฒนาบุคลากร

 

ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในไทยที่สำคัญในปี 2565 คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการส่งออกที่เติบโตสูงกว่าร้อยละ 16 ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักอย่างรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่การย้ายฐานการผลิตที่เป็นผลจากสงครามการค้ายังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นโครงการจากจีนและไต้หวัน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีย้ายฐานเข้ามาแล้ว 250 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 126,000 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ การคลี่คลายของสถานการณ์โควิด(ยังไม่นับรวมผลกระทบจากโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน) และมาตรการเปิดประเทศของรัฐบาล ก็จะช่วยทำให้การเดินทางเข้าประเทศไทยของกลุ่มนักลงทุน ผู้บริหาร และผู้เชี่ยวชาญสะดวกมากขึ้น จะส่งผลดีต่อการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะในโครงการใหม่ๆ ที่ผู้บริหารบริษัทจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาเจรจาธุรกิจและดูที่ตั้งโครงการด้วยตัวเอง”  

 

ปัจจัยหนุนอีกเรื่องที่สำคัญคือ เทรนด์ทั่วโลกมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ภาคธุรกิจก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ บริษัทชั้นนำของโลกต่างยึดแนวทาง ESG (Environmental, Social and Corporate Governance) เป็นนโยบายหลักในการลงทุน  ดังนั้นการที่ประเทศไทยตอกย้ำเป้าหมายที่ชัดเจนในการประชุม COP26 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งแสดงศักยภาพด้าน BCG (Bio-Circular-Green Economy) และขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อป้อนภาคธุรกิจ จะเป็นจุดขายสำคัญที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศไทย    

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดของการลงทุนอีกหลายเรื่องที่เราต้องช่วยกันแก้ไข เพื่อให้ไทยมีความสามารถในการดึงดูดการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น และเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่โดดเด่นของภูมิภาค เช่น การเตรียมพร้อมกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น เช่น กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กฎระเบียบคนเข้าเมือง และขั้นตอนการขอใบอนุญาตธุรกิจต่างๆ  รวมทั้งการเร่งเจรจา FTA เพื่อเปิดตลาดการค้า เพราะการมีประตูการค้าที่เปิดกว้าง และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจาก FTA จะมีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกแหล่งลงทุน ปัจจุบันไทยมี FTA กับ 18 ประเทศ ขณะที่เวียดนามมี FTA มากถึง 52 ประเทศ

 

“ในเรื่องการบุกเจาะตลาดต่างประเทศ  ในช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมา บีโอไอได้ปรับรูปแบบกิจกรรมมาเป็นออนไลน์เป็นหลัก และให้สำนักงานบีโอไอในต่างประเทศทั้ง 16 แห่ง เป็นด่านหน้าในการดึงนักลงทุนเป้าหมาย พอสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น บีโอไอก็ได้วางแผนเตรียมการเดินทางโรดโชว์ในช่วงปีหน้า โดยจะเน้นประเทศที่เป็นผู้ลงทุนหลัก เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ รวมทั้งโซนยุโรป  นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคในปีหน้า จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะแสดงศักยภาพให้โลกเห็นว่า ไทยมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของภูมิภาค และเป็นโอกาสดีที่จะดึงการลงทุนจากประเทศสมาชิกเอเปคด้วย”

 

เปิดแผน“บีโอไอ” ปี 65 ฝ่าด่านโอมิครอน ยัน 2 ปีลงทุนจริงแล้วกว่า 1.3 ล้านล้าน

 

สำหรับทิศทางการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอในปีหน้า จะเน้นสร้างการขยายตัวของการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการผลักดันการลงทุนที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ  โดยเน้นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะกลุ่ม BCG และการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล ออโตเมชั่นและหุ่นยนต์ อากาศยานและชิ้นส่วน เครื่องมือแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งการส่งเสริม Startup ทั้งในกลุ่มดิจิทัลและ Deep Tech  การส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) ศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D)  การส่งเสริมการลงทุนพื้นที่นวัตกรรมต่างๆ เช่น เขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งใหม่ๆ ย่านนวัตกรรมการแพทย์ของ NIA ดิจิทัลวัลเล่ย์ และการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเดิมลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วย 

 

“อีกกิจกรรมสำคัญในช่วงต้นปีหน้า บีโอไอร่วมกับ NIA, DEPA, สอวช., สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร เตรียมจัดงานมหกรรม BCG Startup Investment Day ในช่วงเดือนมีนาคม 2565 จะเป็นงานใหญ่ครั้งแรกที่รวมกลุ่ม Startup ที่มีศักยภาพสูงในสาขา BCG มานำเสนอแผนธุรกิจ พร้อมพบปะกับนักลงทุนชั้นนำ มีทั้ง  VC และ CVC ไทยและต่างประเทศ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กองทุนต่างๆ และศูนย์บ่มเพาะระดับโลก เพื่อได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมาตรการสนับสนุนต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของ Startup ให้แข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย

 

นอกจากนี้ บีโอไอยังให้ความสำคัญกับเรื่อง “คน” ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน  นอกเหนือจากมาตรการด้านสิทธิประโยชน์และเงินสนับสนุนสำหรับการพัฒนาบุคลากรแล้ว  บีโอไอกำลังทำงานร่วมกับกระทรวง อว. เพื่อเตรียมวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม 20,000 คนต่อปี และร่วมมือกับสำนักงานอีอีซี เพื่อ Reskill และ Upskill แรงงาน อีกทั้งยังมีมาตรการดึงผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยผ่าน Smart visa และวีซ่าพำนักระยะยาว (LTR) ที่กำลังจะเริ่มใช้ในช่วงต้นปีหน้าด้วย