ปิดดีล ลงนามสัญญาสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน 1.28 แสนล้าน

29 ธ.ค. 2564 | 10:06 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ธ.ค. 2564 | 17:15 น.

รฟท.ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-นครพนม รวม 5 สัญญา หวังมอบเป็นของ ขวัญปีใหม่ประชาชน ยืนยันผลประมูลโปร่งใส ยึดตามขั้นตอนกฎหมาย

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ได้ร่วมลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางรถไฟ 2 เส้นทาง ประกอบด้วย สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม กับผู้รับจ้าง รวมทั้งสิ้น 5 สัญญา วงเงินกว่า 128,236 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพและพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศ พร้อมมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย โดยดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบข้อบังคับในการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนมีการลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) อย่างครบถ้วน

 

 

 

 

 สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ การรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ซึ่งได้เห็นชอบให้ดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร วงเงินรวมทั้งสิ้น 72,921 ล้านบาท และได้มีการใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ตามระเบียบข้อบังคับของการรถไฟฯ และระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ของกรมกระทรวงการคลัง ตลอดจนมีการลงนามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระหว่างการรถไฟฯ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ผู้ประกอบการ และผู้สังเกตการณ์ ในสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว โดยมีรายละเอียดการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้าง 3 สัญญา ประกอบด้วย

 

 

 

 

สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว กิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) วงเงิน 26,560 ล้านบาท ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 แล้ว โดยงานประกอบด้วยงานก่อสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินและทางรถไฟยกระดับ รวมระยะทางประมาณ 103 กม. มีสถานี 5 สถานี ป้ายหยุดรถ 2 แห่ง อุโมงค์รถไฟ 2 แห่ง และงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี2 ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท บุรีรัมย์พนาสิทธิ์ จำกัด วงเงิน 26,890 ล้านบาท ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 แล้ว ประกอบด้วยงานก่อสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินและทางรถไฟยกระดับ รวมระยะทางประมาณ 132 กม. มีสถานี 4 สถานี ป้ายหยุดรถ 8 แห่ง อุโมงค์รถไฟ 1 แห่ง และงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

สัญญาที่ 3 เชียงราย-เชียงของ กิจการร่วมค้า ซีเคเอสที-ดีซี3 ประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด วงเงิน 19,385 ล้านบาท ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 แล้ว ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินและทางรถไฟยกระดับ รวมระยะทางประมาณ 87 กม. มีสถานี 3 สถานี ป้ายหยุดรถ 3 แห่ง อุโมงค์รถไฟ 1 แห่ง และงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปิดดีล ลงนามสัญญาสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน 1.28 แสนล้าน

 

 

 ส่วนโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อ 28 พฤษภาคม 2562 เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, มุกดาหาร และนครพนม ระยะทางรวม 355 กิโลเมตร วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบข้อบังคับของการรถไฟฯ และระเบียบข้อบังคับของกรมบัญชีกลางในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างครบถ้วนเช่นกัน โดยมีรายละเอียดการลงนามสัญญาจ้างก่อสร้าง 2 สัญญา ประกอบด้วย

สัญญาที่ 1 บ้านไผ่-หนองพอก กิจการร่วมค้า เอเอส-ช.ทวี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ ประกอบด้วย บริษัท เอ.เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด บริษัท ช.ทวีก่อสร้าง จำกัด บริษัท กิจการร่วมค้า ทีบีทีซี จำกัด บริษัท เสริมสงวนก่อสร้าง จำกัด และบริษัท เค.เอส.ร่วมค้า จำกัด วงเงิน 27,095 ล้านบาท ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 แล้ว ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินและทางรถไฟยกระดับ รวมระยะทางประมาณ 180 กม. มีสถานี 10 สถานี และงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ปิดดีล ลงนามสัญญาสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน 1.28 แสนล้าน

 

 

สัญญาที่ 2 หนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 กิจการร่วมค้า ยูนิค ประกอบด้วย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท พี.ซีอีที จำกัด บริษัท ไทยพีค่อนและอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท วัชรขจร จำกัด วงเงิน 28,306 ล้านบาท ซึ่งรวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 แล้ว ประกอบด้วยงานก่อสร้างทางรถไฟระดับพื้นดินและทางรถไฟยกระดับ รวมระยะทางประมาณ 175 กม. มีสถานี 9 สถานี และงานระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง ทั้งสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ถือเป็นเส้นทางสำคัญที่ช่วยพัฒนาศักยภาพระบบการขนส่งทางรางของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้สามารถรองรับการขยายตัวของการค้าชายแดนและผ่านแดน ตลอดจนเชื่อมโยงกับพื้นที่เศรษฐกิจอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่กำลังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 โดยถือว่าเป็นข่าวดี เป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนคนไทยที่จะมีรถไฟสายใหม่ไว้ให้บริการได้เพิ่มขึ้น