นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรังและประธานกรรมการบริหารบริษัท ตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางเศรษฐกิจปีเสือ 2565 เชื่อมั่นเศรษฐกิจประเทศไทยขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี
หลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว 1 เดือน ยังไม่มีผลกระทบ แม้มีการระบาดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน รัฐต้องใช้วิธีคัดกรองนักท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางเข้าประเทศที่เข้มข้นแต่สะดวก สร้างความปลอดภัยในประเทศ โดยต้องไม่ปิดประเทศ หรือล็อกดาวน์
ธุรกิจที่ยังเติบโตไปได้ดี คือ กลุ่มอาหาร การขนส่ง ชิปคอมพิวเตอร์เครื่องจักรอุตสาหกรรม ยานยนต์ พลังงาน ส่วนในพื้นที่ภาคใต้และตรังนั้น อุตสาหกรรมต่อเนื่องการเกษตร ภาคเกษตร การพาณิชย์ ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยโรงงานนํ้ายางข้น โรงงานผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ โรงเลื่อยแปรรูปไม้ยาง แปรรูปอาหารยังสดใส
ราคาปาล์มนํ้ามันที่สูงขึ้นไปที่กิโลกรัมละ 8-10 บาท ส่งผลดีกับเกษตรกรเจ้าของสวนเป็นอย่างมาก ส่วนยางพาราถึงราคาไม่พุ่ง แต่ก็รักษาฐานไว้ให้เกษตรกรเลี้ยงตัวเองอย่าง ไม่เดือดร้อน การพาณิชย์ การค้ายังเลี้ยงตัวเองได้
ส่วนการท่องเที่ยวนั้นเจอการระบาดเชื้อโควิด 2 ปีเต็ม ธุรกิจเกี่ยวเนื่องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และยังมีความกังวล ดังนั้นในปี 2565 นี้ยังไม่ดี
นายบุญชูกล่าวอีกว่า ภาคการผลิตที่เริ่มฟื้นตัวเวลานี้มีปัญหาขาด แคลนแรงงาน เนื่องจากตอนเกิดโควิด-19 แรงงานต่างด้าวทั้งเมียนมากัมพูชา กลับประเทศไปส่วนหนึ่ง เมื่อเราคุมการระบาดได้ แต่ในเมียนมามีปัญหาภายใน รัฐบาลยังไม่ออกหนังสือให้ออกมาทำงานในไทย ซึ่งขาดอยู่ประมาณ 8 แสนคน
“โรงงานของตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเลเอง เคยใช้แรงงานอยู่ 1,800 คน กลับไป 800 คน เหลืออยู่ 1,200 คน เฉลี่ยมีคนทำงานวันละ 1,000 คนเท่านั้น ตอนนี้เพิ่มไลน์การผลิต ต้องใช้แรงงานอีก 800 คน จึงจะเดินเครื่องผลิตได้ 100%”
อีกประการคือ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในตรังขณะนี้ เจอปัญหาสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ ต้องใช้เงินทุนของตนเองมาบริหารจัดการเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้
ด้านนายสาวุฒิ วงศ์หนองเตยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสากลบรรจุภัณฑ์ จำกัด กล่าวว่า รัฐบาล ต้องชัดเจนว่าไม่ปิดประเทศ เพราะ จะเท่ากับปิดกั้นไม่ให้เงินเข้ามา แม้เริ่มมีโควิดโอมิครอน แต่รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจทั้งความปลอดภัยของประชาชน และเศรษฐกิจที่คนต้องมีงานทำมีรายได้ การล็อกดาวน์กระทบธุรกิจที่ต้องหยุดกิจการ มาล้มหายตายจาก ทั้ง ที่ SMEs แข่งกับทุนใหญ่ไม่ได้อยู่แล้ว ควรต้องคุ้มครองธุรกิจ SMEs ไว้
ปี 2565 นี้ อยากให้รัฐบาล ดูแลส่งเสริมภาคการผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่มครบวงจร เช่น ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพารา เนื่องจากมีขั้นตอนการผลิตยาว จ้างแรงงานมาก กว่าจะเป็นชิ้นงานออกขายโดยได้มูลค่าสูงขึ้นต่างจากโรงเลื่อยแปรรูปไม้ยางเป็นแค่วัตถุดิบ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นต้นเท่านั้น ต้องหันมาสนับสนุนรายเล็กเพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากเดินหน้าไปได้
ขณะที่นายณัฐพล มะนะสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โตโยต้าเมืองตรัง จำกัด เปิดเผยว่า ตอนนี้ไทยฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส สามารถคุมสถานการณ์ได้แล้ว แม้จะมีเชื้อโควิดกลายพันธุ์ก็ควรมีวิธีบริหารจัดการได้ดีกว่าเดิม และให้ธุรกิจทุกภาคส่วน ทุกกลุ่มกลับมาสร้างรายได้ รัฐกลับมาเก็บภาษีได้ ในปี 2565 ประชาชนจะต้องมีงานทำ มีรายได้อย่างทั่วถึง ผู้ที่ประกอบอาชีพภาคบันเทิง บริการกลางคืน ควรจะได้ทำงานและมีรายได้เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ
ช่วงโควิดรายได้คนลดกระทบยอดขายรถยนต์ แต่เมื่อเริ่มคุมการระบาดได้ และกลางปี 2564 มานี้ ราคาพืชผลการเกษตร โดยเฉพาะปาล์มนํ้ามันเพิ่มสูงขึ้น ความต้องการใช้รถกระบะและรถเพื่อใช้งานเพิ่มขึ้นแต่โรงงานป้อนไม่ทัน ยอดสั่ง 100 คันส่งให้ได้แค่ 30 คัน จากปัญหาชิปรถยนต์ขาดแคลน
อย่างไรก็ตามยอดขายของบริษัทที่ปี 2564 ตั้งไว้ 1,200 คัน ทำ ได้ตามเป้า ส่วนปี 2565 พยายามทำยอดขายให้โต 10-15% แต่ยังตั้งเป้าไว้เท่าเดิม เพราะเริ่มมีสัญญาณโควิดสายพันธุ์ใหม่ ถ้ารัฐปิดประเทศล็อกดาวน์พื้นที่ เศรษฐกิจจะชะงัก ยอดขายสินค้าต่างๆ ลดลงแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าราคาสูง ต้องเศรษฐกิจดีจึงจะเดินได้ เช่นเดียวกับบ้านและคอนโดฯ ที่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจได้
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,745 วันที่ 2-5 มกราคม พ.ศ.2565